วันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2558

รีวิว 12V Switching Power Supply สำหรับ LED Strip และ 3D Printer ( แบบคร่าวๆ )

ผมห่างหายจาก Blog ไปนานทีเดียวเนื่องจากติดโปรเจ็คเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งใกล้จะลงตัวแล้วและจะหาโอกาสเอาความรู้เรื่องเครื่องพิมพ์ 3 มิติมาเผยแพร่ต่อไปครับ

ส่วนบทความนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากโปรเจ็คเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เช่นกัน เพราะเครื่องพิมพ์ต้องใช้เพาเวอร์ซัพพลายขนาดเล็กค่าแรงดัน 12V แต่ต้องจ่ายกระแสในช่วง 20-30A ซึ่งปัจจุบันนิยมใช้สวิตชิ่งเพาเวอร์ซัพพลายขับหลอด LED Strip Light มาเป็นแหล่งจ่ายให้แก่เครื่องพิมพ์ ซึ่งมีตัวอุปกรณ์หลักๆ คือ Stepping Motor + Heated Bed + Hotend  ที่ดึงกระแสค่อนข้างมากเมื่อเครื่องพิมพ์ทำงาน

หลายปีก่อนหน้านี้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ แบบ DIY (เครื่องทำเอง) ส่วนใหญ่จะเอาเพาเวอร์ซัพพลายของคอมพิวเตอร์มาใช้ครับ แต่พอมีสวิตชิ่งเพาเวอร์ซัพพลายสำหรับขับหลอด LED Strip Light ออกมาขาย ก็เลยเปลี่ยนมาใช้เป็นตัวนี้กันหมด เพราะใช้ง่ายและราคาถูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งของจากจีนซึ่งราคาถูกมากๆ (ถูกเหลือเชื่อ) แรงดัน 12V กระแส 30A ราคา 400-500 บาท ก็ยังหามาใช้ได้ง่ายมากครับ

ผมสั่งจากจีนมาทดลองหลายยี่ห้ออยู่เหมือนกัน สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ความสามารถในการจ่ายกระแสตามสเปคที่ระบุไว้ของทุกยี่ห้อดีมากทีเดียว รวมทั้งเมื่อทดลองใช้งานหนักๆ ไประยะหนึ่งก็ยังไม่พบปัญหาเลยสักตัว ก็เลยจะลองเอามาแกะดูการออกแบบวงจรและการจัดวางตัวอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย เพื่อใช้เป็นแนวทางเลือกใช้โดยเปรียบเทียบกับราคาของมันครับ










ข้างบนนี้เป็นตัวแรกทดลองสั่งมาทดสอบครับ สเปค 12V 10A ตอนแรกคิดว่าแค่ 10A นี่น่าจะพอ ที่ไหนได้ ตัว Heated Bed ตัวเดียวก็กินกระแสเกือบ 10A เข้าไปแล้ว สรุปต้องใช้ 2 ตัวแยกจ่าย Heated Bed อีกหนึ่งตัว รุ่นนี้อึดพอตัวครับ ใช้ต่อเนื่อง 12 ชั่วโมงก็ยังไม่เจอปัญหา










เมื่อแกะฝาครอบออก  สังเกตดูข้างในมีการจัดวางตัวอุปกรณ์เรียบร้อยดี ฝั่งไพรมารี่มีเพาเวอร์ทรานซิสเตอร์แค่ตัวเดียว (ด้านซ้าย)  ฝั่งเซคั่นดารีมีเอาต์พุตโช้คหนึ่งตัว ถัดมาข้างๆ เป็นตัวเพาเวอร์ไดโอดอีกหนึ่งตัวมี 3ขา หม้อแปลงสวิตชิ่งขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ แต่พันเทปขดลวดดูสวยงามเรียบร้อยมาก ส่วนไอซีควบคุมเป็นเบอร์ UC3845 วงจรของสวิตชิ่งเพาเวอร์ซัพพลายตัวนี้จึงน่าจะเป็นฟอร์เวิร์ดคอนเวอร์เตอร์ครับ  ให้สังเกตุตัวคาปาซิเตอร์ที่ฝั่งขาออกใช้เป็นแบบ Low ESR (ปลอกเป็นสีเขียว)  วงจรป้อนกลับใช้ไอซีเบอร์ TL431 ส่งมาจากฝั่งเซคั่นดารี่ผ่านตัวออปโต้คัปเปลอร์

โดยรวมจัดเป็นวงจรสวิตชิ่งเพาเวอร์ซัพพลายรุ่นเก่าพอควร มีข้อดีอยู่ที่วงจรแบบนี้ใช้กันมานานแล้วปัญหาต่างๆ ของวงจรคิดว่าน่าจะมีน้อย (ถ้าเป็นผู้ผลิตที่อยู่ในตลาดนี้มานาน)

ต่อไปจะมาดูการแยกส่วนทางไฟฟ้าเพื่อความปลอดภัยครับ ซึ่งสำคัญมาก อันนี้ต้องพลิกดูกันที่ลายวงจรครับ





เมื่อพลิกแผ่นวงจรออกมาดูมีแผ่นฉนวนรองคั่นระหว่างตัวเคสอะลูมิเนียมกับแผ่น เข้าใจว่าน่าจะเป็นแผ่นไมลาร์ ซึ่งปกติจะต้องมีครับ ถือได้ว่าเจ้านี้ออกแบบและจัดวางตัวอุปกรณ์โดยนึกถึงความปลอดภัยพอสมควร

ลายวงจรแยกส่วนระหว่างส่วนไพรมารี่กับเซคั่นดารี่โดยมีระยะห่างดูด้วยตาไม่น้อยกว่า 4 มม และยังเจาะช่องแยกระหว่างฝั่งไพรมารี่และเซคั่นดารี่ของตัวออปโต้คัปเปลอร์เพิ่มให้อีกด้วย นอกจากนี้บริเวณใต้หม้อแปลงยังเจาะรูไว้อีกหลายรู เข้าใจว่าเอาไว้ระบายความร้อน

สรุปว่าการออกแบบโดยรวม (ไม่นับเรื่องการทำงาน) เพาเวอร์ซัพพลายรุ่นนี้ถือได้ว่าดีทีเดียวเลยครับในราคาระดับนี้


ต่อไปเป็นตัวที่ 2 อีกยี่ห้อหนึ่ง สเปค 12V 20A  แต่มีขนาดเท่ากับตัวแรก เมื่อเทียบกำลังกับขนาดตัวถือว่าน่าสนใจมาก ผมเลยลองสั่งมาทดลองด้วยหน้าตาเป็นแบบนี้ครับ


















สังเกตตรงเครื่องหมาย CE บนสติกเกอร์นะครับ ตัวนี้ตอนแรกที่ได้มาเห็นเครื่องหมายนี้ก็รู้สึกว่ามาตรฐานความปลอดภัยน่าจะมีไม่มากนักเพราะตัวเครื่องหมายทำออกมา "เพี้ยน" (ลองค้นใน google คำว่า CE mark ดูนะครับว่าเครื่องหมายที่ถูกต้องเป็นอย่างไร) แสดงว่าไม่ได้ขอมาตรฐานตัวนี้แน่ แต่เอามาติดเฉยๆ ให้ดูดี พอแกะฝาออกดูมีก็ยังมีตัวอุปกรณ์น้อยมาก เหมือนไม่น่าจะจ่ายกระแสได้ถึง 20A

แต่ผิดคาดครับ จ่ายกระแส 20A ได้สบายๆ เลย

ตัวเอาต์พุตคาปาซิเตอร์เป็นแบบธรรมดา (ปลอกสีดำ) แสดงว่าไม่สนใจเรื่องแรงดันกระเพื่อมเน้นกระแสเป็นหลัก ถือว่าเจาะจงมาใช้กับ LED โดยเฉพาะ เอาราคาเป็นหลักครับ



ดูจากด้านบนเห็นแต่หม้อแปลงกับเอาต์พุตโช้ค แต่ไม่เห็นเพาเวอร์ทรานซิสเตอร์กับไดโอด ต้องแกะแผ่นวงจรพลิกดูด้านล่างถึงจะเจอ ซึ่งถือว่าเจ้านี้ออกแบบได้สุดยอดมาก เพราะที่ไปอยู่ด้านล่างนั้นเพื่อต้องการเอาไปฝากระบายความร้อนที่ตัวถังด้านใต้แผ่น PWB แล้วเอาซิลิโคนระบายความร้อนแผ่นเล็กๆ รองคั่นเพื่อให้เป็นฉนวนและช่วยระบายความร้อน  ทำแบบนี้จึงไม่สามารถวางแผ่นไมลาร์คั่นระหว่างแผ่นวงจรกับตัวถังได้ ถือว่าตรงนี้ออกแบบไม่ผ่าน น่าเสียดายมากครับเพราะตัวนี้ราคาถูกสุดๆ เลยทีเดียว

เพาเวอร์ไดโอดคือตัวที่อยู่ใต้เอาต์พุตโช้ค แต่ที่น่าสนใจคือตัวเพาเวอร์ทรานซิสเตอร์ของเจ้านี้ใช้เป็นไอซีสำเร็จรูป (ตัวล่างที่มีขาเยอะๆ) เบอร์ KA 1M0880  ของ Fairchild มีวงจรควบคุมและเพาเวอร์มอสเฟตในตัวเดียวกัน  เป็นวงจรทีใหม่ขึ้นมาหน่อย (แต่ก็มีมาแล้วพอสมควร) สวิตชิ่งเพาเวอร์ซัพพบายตัวนี้จึงน่าจะเป็นฟอร์เวิร์ดคอนเวอร์เตอร์เช่นเดียวกับตัวแรกครับ

ลายวงจรมีการแยกส่วนระหว่างฝั่งไพรมารี่และเซคั่นดารี่ชัดเจนดีอยู่ และมีระยะห่างดี ตรงใต้หม้อแปลงเจาะรูระบายความร้อน ส่วนป้อนกลับจากเซคั่นดารี่ยังใช้ไอซีเบอร์ TL431 ป้อนกลับแรงดันขาออกผ่านทางออปโต้คลัปเปอร์ไปยังวงจรควบคุม แต่ขาระหว่างฝั่งไพรมารี่และเซคั่นดารี่ออปโต้คลัปเปอร์เจ้านี้ไม่เจาะช่องคั่นเอาไว้

สรุปว่าตัวที่ 2 การออกแบบโดยรวม "ไม่ผ่าน" เรื่องความปลอดภัยครับ (ไม่นับเรื่องการทำงาน) แต่ถ้าเอามาใช้ทดลองเองอย่างระมัดระวังหน่อย เพาเวอร์ซัพพลายรุ่นนี้ก็ยังถือได้ว่าดีทีเดียวเลยสำหรับราคาถูกสุดๆ ระดับนี้

ส่วนตัวสุดท้ายสเปค 12V 20A  แต่มีขนาดใหญ่กว่า 2 ตัวแรกพอสมควร ส่วนหน้าตาก็ยังออกแบบมาคล้ายๆ กันอยู่



















เมื่อแกะฝาครอบออก  สังเกตดูข้างในมีการจัดวางตัวอุปกรณ์เรียบร้อยดี ที่น่าสนใจคือ บนแผ่น PWB มีคำเตือนเขียนอยู่ด้วยว่าถ้าจะเปลี่ยนฟิวส์ให้ใช้ชนิดและอัตรากำลังให้เทียบเท่าของเก่า เพื่อป้องกันอันตรายและไฟใหม้ รวมทั้งตัวอุปกรณ์ที่อยู่บนแผ่นตามตำแหน่งต่างๆ ของวงจรเลือกใช้ชนิดที่ถูกต้องดีมาก แสดงว่าผู้ผลิตเจ้านี้มีระดับพอสมควร และน่าจะผลิตสวิตชิ่งเพาเวอร์ซัพพลายแบบมืออาชีพครับ

สังเกตดูที่ฝั่งไพรมารี่มีเพาเวอร์ทรานซิสเตอร์ 2 เดียว (ด้านซ้าย)  ฝั่งเซคั่นดารีมีเอาต์พุตโช้คหนึ่งตัว เผื่อแกนด้วยการใช้ Toriod 2 ตัวซ้อนกัน ถัดมาข้างๆ เป็นตัวเพาเวอร์ไดโอดมี 3ขา ตัวใหญ่พอสมควร ไดโอดมีแผ่นระบายความร้อนของตัวเอง ส่วนเพาเวอร์ทรานซิสเตอร์ใช้ตัวถังเป็นแผ่นระบายความร้อน แต่มีแผ่นซิลิโคลนรองเป็นฉนวนคั่นเอาไว้ด้วย















จากรูปจะเห็นตัวไอซีควบคุมมี 16 ขา ซึ่งเจ้านี้ใช้เบอร์ KA7500  (เทียบเท่าเบอร์ TL494) สังเกตุตัวเก็บประจุบล๊อคกิ้งตัวสีน้ำตาลข้างๆ หม้อแปลง รวมกับเมื่อไล่วงจรดูแล้วขดไพรมารี่มีขดเดียว สรุปว่าสวิตชิ่งเพาเวอร์ซัพพลายรุ่นนี้เป็นฮาล์ฟบริดจ์คอนเวอร์เตอร์ครับ ตัวหม้อแปลงสวิตชิ่งดูด้วยตาถือว่าขนาดกำลังดี และหม้อแปลงตัวเล็กที่เห็นนั้นเป็นหม้อแปลงขับเพาเวอร์ทรานซิสเตอร์ครับ โดยรวมตัวนี้การจัดวงจรเป็นรุ่นเก่าแบบเดียวกับสวิตชิ่งเพาเวอร์ซัพพลายตัวแรก ซึ่งมีข้อดีอยู่ที่วงจรแบบนี้ใช้กันมานานแล้วปัญหาต่างๆ ของวงจรจึงน่าจะมีน้อย รวมถึงการออกแบบของเจ้านี้ถือว่าดีทีเดียว แต่คงยังสรุปได้ไม่เต็มที่นักเพราะยังไม่ได้แกะพลิกดูด้านล่าง




เมื่อแกะพลิกดูด้านล่างไม่ผิดหวังครับ เพราะออกแบบลายวงจรสวยงามและแยกส่วนไพรมารี่กับเซคั่นดารี่ได้ดีทีเดียว มีแผ่นไมลาร์รองคั่นระหว่างตัวถังด้านล่างกับแผ่น PWB เกือบจะให้คะแนนเต็มร้อยอยู่แล้วเชียว เสียดายเมื่อไล่วงจรดูพบจุดที่ไม่ค่อยชอบอยู่ 2 จุดครับ

จุดแรกคือเมื่อพยายามไล่วงจรหาดูว่าเป็นคอนเวอร์เตอร์แบบไหน แต่ที่พบเพิ่มกลับเป็นว่า ชุดคอนโทรลนั้นถูกออกแบบให้อยู่ที่ฝั่งเซคั่นดารี่ การป้อนกลับเพื่อควบคุมจึงอยู่ที่ฝั่งเซคั่นดารี่ทั้งหมด (ความจริงยังสงสัยอยู่ว่ามันจะเอาแรงดันที่ไหนมาเริ่มทำงาน) ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือ หม้อแปลงขับเพาเวอร์ทรานซิสเตอร์ (ตัวเล็ก) นั้นขับมาจากตัวไอซีที่ฝั่งเซคั่นดารี่ ซึ่งหมายความว่าหม้อแปลงขับจะต้องพันฉนวนแยกฝั่งอย่างดี ซึ่งน่าจะยากอยู่ แต่ที่ติดใจที่สุดคือพบว่าลายวงจรเส้นแรงดันขาเข้าที่ผ่านขดไพรมารี่นั้นเอาไปฝากผ่านขาหม้อแปลงขับด้วย ดังนั้นการแยกส่วนระหว่างฝั่งไพรมารี่กับเซคั่นดารี่จึงขึ้นอยู่กับหม้อแปลงทั้ง 2 ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ตัวหม้อแปลงขับ แม้จะมีการเจาะช่องบนแผ่น PWB เพิ่มไว้ก็ตาม แต่ผมเป็นห่วงเรื่องฉนวนที่พันแยกส่วนบนตัวหม้อแปลงขับมากกว่า จึงต้องทดสอบการทนแรงดันระหว่างขดให้ดี (คิดว่าผู้ผลิตคงทดสอบแล้ว)

สรุปว่าทั้ง 3 ตัวนี้ตัวแรกถือว่าการออกแบบโดยรวมดีที่สุด (แต่ก็ราคาแพงกว่าเพื่อน) ถ้าได้ของเจ้านี้ขนาดกระแส 20A หรือ 30A มาทดสอบด้วยจะสรุปได้ดีกว่านี้ ถ้าได้มาเมื่อไหร่ จะเอามาอัพเดตให้ครับ ส่วนตัวที่ 2 ถ้าจะเอามาใช้งานทั่วไปในเครื่องใช้ผมคิดว่าไม่น่าจะดี สำหรับตัวสุดท้ายถือว่าพอใช้ได้และคิดว่าการทำงานที่กำลังงานสูงๆ ไม่น่ามีปัญหาเพราะการออกแบบวงจรค่อนข้างดี แต่ติดใจอยู่ที่การแยกส่วนไฟฟ้านิดเดียวครับ (ต้องทดสอบการทนแรงดันสูงกันอีกที)


จะเห็นว่าแม้สวิตชิ่งเพาเวอร์ซัพพลายแบบนี้ส่วนใหญ่หน้าตามันจะเหมือนๆ กัน แต่ข้างในจะต่างกันพอสมควร การเลือกเอายี่ห้อไหนรุ่นไหน เบื้องต้นก็คงต้องแกะข้างในดูการออกแบบวงจร โครงสร้าง และการเผื่อความปลอดภัยให้ผู้ใช้กันแบบนี้แหละ

หวังว่ารีวิว (คร่าวๆ ) ตอนนี้คงจะเป็นประโยชน์อยู่บ้างนะครับ

ตอนหน้าผมจะนำผลทดสอบการคงแรงดันเมื่อจ่ายกระแสสูงๆ มาให้ดู จะเอามารวมกันไว้ที่เดียวก็กลัวจะยาวมากไปครับ







วันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ทดสอบ Small DC Motor ที่ควบคุมความเร็วด้วย PWM

ผมคิดว่าผู้อ่านคงเคยแกะ DC motor ตัวเล็กๆ อย่าง Fan motor ที่ใช้ในคอมพิวเตอร์กันออกมาดูหรือทดลองบ้าง ถ้าเป็นแบบธรรมดาก็จะมีสายไฟออกมา 2 เส้น คือต่อแหล่งจ่ายไฟ DC บวกลบให้มอเตอร์ตามปกติ แบบนี้มักไม่ควบคุมความเร็ว (ความจริงก็ควบคุมได้) แต่ถ้าเห็นมีสาย 3- 4 เส้นก็จะเป็นมอเตอร์แบบที่ใช้งานในลักษณะที่ต้องการควบคุมความเร็ว ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ PWM เป็นตัวควบคุม

พอดีผมได้มีโอกาสทดสอบ DC Motor ที่ใช้ในเครื่องดูดฝุ่นแบบ robot ที่กำลังฮิตกันอยู่ตอนนี้ ซึ่งในตอนแรกคิดว่าเป็น Stepping motor แต่พอได้สเปคมาดูกลายเป็น PWM control dc motor ไปโน่น เลยได้โอกาสเอา PWM ที่เคยเขียนเอาไว้ในบทความที่แล้วมาทดลองใช้เสียเลย หน้าตาของมอเตอร์ที่ได้มาเป็นแบบนี้ครับ




เจ้ามอเตอร์ตัวนี้มีสายมากกว่า fan motor อยู่หน่อย คือมีจุดต่อสาย 5 เส้น 
4 เส้นแรกนั้นเหมือน fan motor ทั่วไป ส่วนอีกเส้นที่เพิ่มขึ้นมาเอาไว้เบรคและกลับทิศมอเตอร์ 

เรียงขาแบบนี้ครับ

1 GND
2 +18V
3 PWM
4 FG
5 Break

เส้น FG (Frequency Generator) นั้นเป็นเส้นสำหรับสร้าง feed back pluse ซึ่งมอเตอร์ตัวนี้จะจ่าย pluse 6 ลูกต่อการหมุน 1 รอบ เอาไว้นับหรือควบคุมจำนวนรอบการหมุนที่แน่นอนของมอเตอร์ครับ

การทดสอบนี้ผมใช้แค่ 3 เส้นเท่านั้น คือ GND +18V และ PWM


สัญญาน PWM ใช้จากวงจรนี้ที่เคยเขียนเอาไว้ (เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่บทความ Simple and Efficient PWM )







ไฟเลี้ยงของ PWM ใช้ 12V ส่วนมอเตอร์ใช้ 18V แยกจากกันครับ เพราะสเปคของมอเตอร์บอกให้จ่าย PWM หลังมอเตอร์ต่อกับไฟ 18V เรียบร้อยแล้ว ถ้าจ่าย PWM ก่อนแล้วค่อยจ่ายไฟ 18V มอเตอร์จะพัง (ส่วนใหญ่เป็นแบบนี้ต้องระวังด้วยครับ)

สเปคที่ได้มาไม่ได้บอกว่าใช้ความถี่ PWM ช่วงเท่าไหร่ ผมประมาณเอาจากสเปค Fan motor ทั่วไปที่ทำงานในช่วง 30-300kHz  เลยเลือกใช้ที่ 50kHz ครับ หลักการก็ไม่มีอะไร ถ้าต้องการความเร็วรอบ (speed) ที่มากขึ้นก็เพิ่มค่าดิวตี้ไซเคิลของ PWM  ถ้าต้องการลดความเร็วก็ลดค่าดิวตี้ไซเคิลให้น้อยลงมา

ลองมาดูผลการทดสอบกัน





เอามาลงให้ดูกันเล่นๆ เพื่อเป็นตัวอย่างการประยุกต์ใช้ PWM ที่เคยเขียนเอาไว้ในบทความก่อนๆ เท่านั้นครับ

บทความที่น่าสนใจ
Why and how to control fan speed for cooling electronic equipment.
Fan 3rd wire signal

วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

Simple and Efficient PWM

บทความเรื่อง PWM สำหรับทดสอบคอนเวอร์เตอร์ มีผู้สนใจเข้าไปอ่านกันมาก ผมเลยอยากนำเสนอวงจร PWM อีกตัวหนึ่งที่เคยทดสอบการทำงานเอาไว้นานแล้ว แต่ยังไม่ได้เอามาใช้ เพราะต้องเพิ่มเติมกันอีกพอสมควรถ้าจะเอามาใช้ทดสอบคอนเวอร์เตอร์อย่างจริงจัง

วงจรนี้สร้าง PWM ที่ให้ค่าความถี่เสถียรกว่าไอซีเบอร์ TL494 และปรับเปลี่ยนความถี่ของ PWM ได้ง่ายและกว้างกว่า ทั้งยังสามารถทำงานที่ความถี่สูงๆ ได้อีกด้วย เหมาะจะนำไปทดสอบวงจร "เรโซแนนซ์คอนเวอร์เตอร์" ที่ทำงานในช่วงความถี่สูงๆ

เอามาลงไว้เผื่อมีใครสนใจนำไปประยุกต์ใช้งานครับ

วงจรนี้ดัดแปลงมาจากวงจรในบทความชื่อ Simple circuit provides efficient PWM เขียนโดย Kenneth Levine ลงในคอลัมน์ design ideas ในวารสาร EDN ฉับบ February 18, 1999 

ส่วนวงจรที่ทดลองสร้างขึ้นมีแก้ไขนิดหน่อยครับและเปลี่ยนตัวอุปกรณ์ให้เป็นเท่าที่ผมหาได้ ซึ่งจะเป็นดังนี้

(ดัดแปลงจากวงจรเดิมของ Kenneth Levine)


ในบทความของ Levine  นั้นได้อธิบายการทำงานเอาไว้แล้วโดยละเอียด (มีที่พิมพ์หน่วยผิดนิดหน่อย ให้ดูหน่วยจากบทความนี้แทน) ในที่จึงจะขออธิบายการทำงานเพียงคร่าวๆ เท่าทีจำเป็นในการนำไปใช้ครับ

การทำงานของวงจรจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ ตามการทำงานของ PWM โดยทั่วไป คือ ส่วนสร้างสัญญานฟันเลื่อย (sawtooth) ที่ใช้กำหนดค่าความถึ่ของ PWM (ชุุด IC1A) และส่วนควบคุมค่าดิวตี้ไซเคิล (ชุด IC1B)

เริ่มที่ชุดสร้างสัญญานฟันเลื่อยกันก่อน 


ส่วนสร้างสัญญานฟันเลื่อย

ซึ่งจะแบ่งย่อยอีกเป็น 2 ส่วน คือส่วน "ชาร์จ" และส่วน "ดิสชาร์จ" ตัวคาปาซิเตอร์ C1 โดยค่าความถี่ของ PWM ที่ได้จะขึ้นอยู่กับช่วงเวลา dt ในการชาร์จ C1 เป็นหลัก วงจรนี้ออกแบบไว้ให้เริ่มชาร์๋จเมื่อแรงดันตกคร่อม C1 ตกลงมาจนถึงระดับ 1V และให้ดิสชาร์จประจุทิ้งไปเมื่อแรงดันตกคร่อม C1 เพิ่มขึ้นจนถึง 3V ครับ

ตัวชาร์จอยู่ที่ทรานซิสเตอร์ Q1 ซึ่งจะชาร์จประจุ C1 ด้วยกระแสคงที่ผ่านตัวมัน จากวงจรจะเห็นว่า R1 กับ R2 ต่อวงจรในลักษณะแบ่งแรงดัน โดยค่าที่กำหนดในวงจรจะทำให้แรงดันตกคร่อม R1 เท่ากับ 1V คงที่ หากประมาณแรงดัน VBE ของ Q1 เท่ากับ 0.7V แรงดันตกคร่อม R3 ก็จะมีค่าเท่ากับ 0.3V คงที่ด้วย ดังนั้นที่ค่า R3=1.5k กระแสที่จะไหลเข้าชาร์จ C1 จะมีค่าคงที่เท่ากับ 200uA (ไมโครแอมป์) และเนื่องจากแรงดันตกคร่อม C1 จะเพิ่มขึ้นจาก 1V ถึง 3V เมื่อ C1 ถูกชาร์จประจุจะมีค่าแรงดันเพิ่มขึ้น dV= 3V-1V=2V ดังนั้นจะหาช่วงเวลาในการชาร์จประจุได้จาก



นั่นคือ จากค่า R3= 1.5K ในวงจรจะได้ความถี่ PWM เท่ากับ 1/10us = 100kHz และด้วยวิธีการคำนวณแบบเดียวกัน ถ้าต้องการความถี่เท่ากับ 50kHz กับ 200kHz ก็ให้เปลี่ยนค่า R3 เป็น 3K กับ 750R ตามลำดับครับ

ส่วนดิสชาร์จ C1 อยู่ที IC1A ซึ่งจัดวงจรในลักษณะ cpmparator โดยขา 4 ของ IC1A จะคอยเช็คแรงดันที่ตกคร่อม R5 และจากค่าของ R4 กับ R5 ที่กำหนดไว้จะทำให้แรงดันตกคร่อมที่ R5 มีค่าเท่ากับ 3V ส่วนขา 5 ของIC1A จะคอยเช็คแรงดันที่ตกคร่อม C1 เพื่อเปรียบเทียบกัน และเมื่อแรงดันตกคร่อม C1 มีค่าเท่ากับ 3V comparator ก็จะทำงานโดย ขา 12 จะดึงกระแสโดยลดแรงดันที่ขาลงจน (เกือบ) เป็นศูนย์ (แรงดันกราวด์) จังหวะนี้ R6 ที่เสมือนต่อลอยอยู่จะเปลี่ยนมาขนานกับ R5 แทน และจากค่าความต้านทานของ R6 ที่กำหนดไว้ในวงจรจะทำให้แรงดันที่ขา 4 ของ IC1A ในจังหวะนี้มีค่าลดลงเหลือเพียง 1V ในขณะเดียวกันไดโอด D1 ก็จะดึงให้ C1 ดิสชาร์จประจุออกมาผ่านขา 12 ของ IC1A อย่างรวดเร็วด้วย จนเมื่อแรงดันตกคร่อม C1 ลดลงจนเหลือต่ำกว่า 1V ขา 12 ของ IC1A ก็จะเปิดวงจรอีกครั้ง D1 จะหยุดทำงาน C1 จะเริ่มชาร์จประจุใหม่ เป็นเช่นนี้เรื่อยไปก็จะได้สัญญานฟันเลื่อยมารอไว้ที่ขา 10 ของ IC1ฺB 


ส่วนควบคุมค่าดิวตี้ไซเคิล

อยู่ที่ขา 10 กับขา 9 ของ IC1B ซึ่งใช้แรงดัน VCTRL ในช่วง 1V ถึง 3V (1V<VCTRL<3V) มาควบคุมค่าความกว้างของ pluse โดย IC1B จะเปรียบเทียบแรงดันที่เพิ่มขึ้นจาก C1 ที่ขา 10 กับแรงดัน VCTRL ที่ขา 9  ถ้าแรงดัน VCTRL ยังมากกว่าค่าแรงดันของ C1 เอาต์พุต์ของ PWM (แรงดันที่ขา 7 ของ IC1B) ก็จะมีค่า High เมื่อแรงดันของ C1 เพิ่มขึ้นจนเท่ากับ VCTRL เอาต์พุต์ของ PWM ก็จะมีค่า Low ดังนั้นการปรับเปลี่ยนค่าแรงดัน VCTRL ก็คือการปรับเปลี่ยนค่าดิวตี้ไซเคิลของ PWM นั่นเอง

ตัว IC1A และ IC1B วงจรเดิมใช้เบอร์ LM319 ส่วนผมเปลี่ยนไปใช้เบอร์ LM311 แทน และแยกแรงดันไฟเลี้ยงไอซีให้เป็น 12V (เพื่อให้ได้แรงดันเอาต์พุตของ PWM ที่ 12V) ส่วนแรงดัน 5V ที่ใช้กับส่วนอื่นของวงจร ผมใช้ IC7805 ตัวเล็กมาลดแรงดันจาก 12V ลงมาเป็น 5V อีกที ทรานซิสเตอร์ Q1 วงจรเดิมใช้ 2N3906 ผมเปลี่ยนมาใช้ 2N3906 เพราะมีอยู่ ค่า R ในวงจรนั้นเปลี่ยนไปเล็กน้อยให้หาค่าได้ง่าย ใช้แบบ 1% ทั้งหมดได้ก็ดีครับ สำหรับ R3 นั้นเปลี่ยนมาใช้ VR5K (20รอบ) แทน เพื่อให้ปรับได้ครอบคลุมค่าความถี่ตั้งแต่ 50kHz ถึง 200kHz ส่วนแรงดัน VCTRL ก็ใช้ VR5K แบ่งแรงดัน 5V เอา ไดโอด D1 ถ้าหาเบอร์ 1N914 ไม่ได้ให้ใช้เบอร์ 1N4148 แทนได้เช่นกัน

ไอซี Comparator ไม่จำเป็นต้องเป็นเบอร์ LM319 หรือ LM311 แต่ขอให้มีความเร็วตอบสนองดีๆ ถ้าต้องการความถี่สูงๆ ก็ให้เลือกไอซีที่มีความเร็วมากกว่า 2 ตัวนี้มาใช้ครับ

รูปนี้เป็นวงจรที่ประกอบขึ้นทดลอง





ส่วนลักษณะรูปคลื่นที่ได้ขณะวงจรทำงานเป็นดังนี้




รูปบนได้จากการปรับค่า R3 ให้ได้สัญญานฟันเลื่อยที่ 50kHz ซึ่งจะได้สัญญานเอาต์พุตของ PWM ที่ 50kHz ด้วย เส้นแนวนอนคือค่าแรงดัน VCTRL ปรับไว้ที่ประมาณ 3V (High duty cycle) ส่วนรูปข้างล่างปรับค่าแรงดัน VCTRL ไว้ที่ประมาณ 1.4V (low duty cycle)





ต่อไปทดลองเปลี่ยนค่าความถี่เป็น 100 kHz




ถัดมาที่ 200 kHz วงจรยังคงทำงานได้ไม่มีปัญหา




วงจรนี้ผมทดลองให้ทำงานทิ้งไว้เป็นเวลานาน สังเกตความถี่ที่ได้ค่อนข้างนิ่งดีทีเดียวไม่เปลี่ยนแปลงมากเหมือนที่ได้จากไอซีเบอร์ TL494 แต่เสียอยู่อย่างหนึ่งคือ มี PWM แค่ output เดียว การนำไปใช้กับ พุชพูล ฮาล์ฟบริดจ์ และฟูลบิรดจ์คอนเวอร์เตอร์ อาจลำบากนิดหน่อย เอาไว้ผมจะเขียนถึงการนำไปใช้กับคอนเวอร์เตอร์เหล่านี้ให้ในตอนต่อๆ ไปครับ






วันพุธที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

วงจรทดลองเพื่อศึกษาการทำงานของฮาล์ฟบริดจ์คอนเวอร์เตอร์

บทความในตอนนี้จะทดสอบการทำงานของวงจรจริงของฮาล์ฟบิรดจ์คอนเวอร์เตอร์เพื่อเปรียบเทียบกันกับวงจรฮาล์ฟบิรดจ์คอนเวอร์เตอร์ที่ได้คำนวณและจำลองดูการทำงานเอาไว้ด้วย LTspice IV ครับ

การคำนวณค่าต่างๆ ย้อนไปดูได้ที่นี่
วิเคราะห์การออกแบบฮาล์ฟบริดจ์คอนเวอร์เตอร์ด้วย LTSPICE IV

เมื่อกำหนดค่าตัวอุปกรณ์ต่างๆ แล้วจะได้วงจรที่จะใช้ทดสอบตามนี้



วงจรฮาล์ฟบริดจ์คอนเวอร์เตอร์ที่ใช้ทดลอง




















วงจร PWM ใช้ TL494 มาปรับเป็นแหล่งกำเนิดเช่นเดิม (ดู PWM สำหรับทดสอบคอนเวอร์เตอร์) ในที่นี้เราจะใช้กับฮาล์ฟบริดจ์คอนเวอร์เตอร์ซึ่งเพาเวอร์ทรานซิสเตอร์จะสลับกันทำงาน ดังนั้นจึงใช้โหมด "push-pull" คือ Output1 และ Output2 สลับกันทำงาน และใช้ทั้งสอง output ซึ่งทำได้โดยต่อขา 13 เข้าแรงดัน ref ที่ขา 14 


PWM ที่ใช้ ซึ่งจะใช้ทั้ง output1 และ output2
ดังนั้นให้ต่อขา 13 เข้ากับแรงดัน ref ที่ขา 14 ด้วย


นื่องจากวงจรฮาล์ฟบริดจ์จะจัดวงจรอยู่ในลักษณะเพาเวอร์มอสเฟตแบ่งครึ่งแรงดัน ที่มีลักษณะของ high-side (ตัวบน) และ low-side (ตัวล่าง) ดังนั้นในที่นี้จะใช้ไอซีเบอร์ IR2110 มาเป็นตัวขับขาเกตให้เพาเวอร์มอสเฟตในวงจรครับ (ให้ดู High-Side Gate Drive ด้วยไอซีเบอร์ IR2110)

วงจรขับเกตจะเป็นดังนี้




วงจรที่ใช้ขับขาเกตใช้ IC เบอร์ IR2110 สำหรับฮาล์ฟบริดจ์คอนเวอร์เตอร์ที่ทดลองสร้างขึ้น 


Output1 กับ Output2 ของ TL494 ให้ต่อเข้ากับ Hin (PWM_A) กับ Lin (PWM_B) ของ IR2110 สำหรับไฟเลี้ยง +12V ของ IR2110 นั้น สามารถใช้ร่วมกับ TL494 ได้ แต่ไฟเลี้ยงของฮาล์ฟบริดจ์คอนเวอร์เตอร์ให้แยกต่างหากกันครับ เพราะจะต้องทดลองปรับเปลี่ยนแรงดันไปมา

เพาเวอร์มอสเฟตใช้เบอร์ R6004ENDTL ของ Rohm (ไม่จำเป็นต้องใช้เบอร์นี้ก็ได้ขอให้ทนแรงดันได้ประมาณ 60V ที่กระแส 1A ขึ้นไป) เป็นแบบ surface mount ซึ่งทำให้ตัวเล็กหน่อย ไดโอดใช้ Schottky เบอร์อะไรก็ได้เช่นกัน (1N5819 ก็ได้) ขอให้ทนกระแสได้ประมาณ 1A ก็พอ วงจรจริงผมใช้เบอร์ RB050L-60TE25 เป็นแบบ surface mount เหมือนกัน 

หม้อแปลงสวิตชิ่งพันขึ้นใช้เอง วิธีการออกแบบหม้อแปลงให้ดูรายละเอียดได้ในในหนังสือ เทคนิคและการออกแบบสวิตชิ่งเพาเวอร์ซัพพลาย ครับ 

แกนเฟอร์ไรต์ใช้ขนาด EFD20/10/7 ของ EPCOS เบอร์ B66417GX187 ถ้าหาแกนนี้ไม่ได้ก็ให้ใช้แกน EE20 หรือ EI20 หรือใกล้เคียงก็ได้ แกน EFD20/10/7 มี ขนาด Ae = 0.31 cm2  เริ่มต้นด้วยการประมาณคร่าวๆ ว่าจะใช้ ค่า lg ประมาณ  0.01 mm. (ตามที่ใช้คำนวณใน LTspice IV) ดังนั้นจากค่า LP = 352 x 10-6 H จะได้ จำนวนรอบของ Np





เลือก Np=30 รอบ ดังนั้นจากอัตราส่วนจำนวนรอบ Np/Ns = 0.31 เลือก Ns = 100 รอบ (เกินไปนิดหน่อยให้เป็นเลขจำง่ายๆ)

เอาต์พุตโช้คกำหนดไว้ที่ Lo = 560 x 10-6 H ใช้วิธีคำนวณแบบเดียวกันจะได้จำนวนรอบ  NLo = 38 รอบ แต่ในที่นี้ผมใช้แบบสำเร็จรูปที่มีขายไม่ได้พันเอง วัดค่าอินดัคแตนซ์ได้ 680 x 10-6 H

ทดลองวัดค่า Lp ของหม้อแปลงจากขดลวดไพรมารี่ที่พันขึ้นได้เท่ากับ 448 x 10-6 H  สูงไปหน่อยแต่ไม่เป็นปัญหาเพราะมีผลแค่ทำให้ค่า Ip(peak) ลดไปเท่านั้น ส่วนผลการทดสอบอัตราส่วนจำนวนรอบ Np:Ns เมื่อพันเสร็จแล้ว วัดค่าแรงดันแต่ละคู่ขดเปรียบเทียบกัน ได้ Np/Ns ประมาณ 0.35 เท่ากันทั้ง 2 คู่ (ขดเซคั่นดารี่ Ns พันควบ 2 เส้นพร้อมกันทีเดียว) ตามรูปข้างล่างนี้ครับ


รูปคลื่นวัดค่าแรงดันแต่ละคู่ขดเปรียบเทียบกัน ได้ Np/Ns ประมาณ 13.86/39.75=0.35 


รูปข้างล่างคือวงจรที่ประกอบขึ้นมาทดลอง





ต่อไปทดสอบวงจรเพื่อดูความสามารถที่จะคงค่าแรงดันที่ 5V เมื่อตั้งค่าโหลดให้คงที่ไว้ 300mA ทดสอบที่ช่วงแรงดันขาเข้า 2 จุด คือที่ 7V กับ 12V 

เมื่อตั้งค่าแรงดันขาเข้าไว้ที่ 7ผลการปรับช่วงเวลานำกระแสได้ค่า ton ที่ค่าสูงสุดได้ประมาณ 17.76 x 10-6 วินาที พบว่าที่ค่ากระแสขาออกวงจร 300mA วงจรสามารถทำค่าแรงดันขาออกได้เพียง 4V เท่านั้น ดังนั้นจึงทดลองปรับลดค่ากระแสขาออกเพื่อให้ได้ค่าแรงดันขาออกที่ 5V ผลปรากฎว่าได้ค่ากระแสสูงสุดอยู่ที่ 200mA 

แสดงว่าค่าแรงดันขาเข้าอาจต่ำเกินไปสำหรับวงจรจริงเมื่อเทียบกับวงจรที่ใช้ค่าอุดมคติ 

ส่วนลักษณะสัญญานจาก IR2110 ทั้งตัวบนและล่างได้ตามในรูปนี้คร้บ 





จากนั้นทดลองตั้งค่าแรงดันขาเข้าเพิ่มขึ้นมาเป็น 8ผลการปรับช่วงเวลา ton ของวงจรเพื่อให้ได้แรงดันขาออก 5และกระแสขาออก 300mA  ได้ค่า ton ประมาณ 16.82 x 10-6 วินาที ได้ค่าแรงดันกับกระแสตามต้องการไม่มีปัญหาอะไร ส่วนลักษณะสัญญานจาก IR2110 ทั้งตัวบนและล่างได้ตามในรูปนี้คร้บ 




ต่อไปทดลองค่าแรงดันขาเข้าไว้ที่ 15ผลการปรับช่วงเวลา ton ของวงจรเพื่อให้ได้แรงดันขาออก 5และกระแสขาออก 300mA  ได้ค่า ton ประมาณ 7.38 x 10-6 วินาที 

ลักษณะสัญญานจาก IR2110 ทั้งบนล่างได้ตามในรูปนี้ 






แสดงว่าที่แรงดันขาเข้าค่าสูงๆ ขึ้นมาวงจรทำงานได้ดีไม่มีปัญหา แรงดันขาเข้าที่ตั้งไว้ 7V น่าจะต่ำเกินไป (แบ่งครึ่งแรงดันเหลือ 3.5V หักแรงดันตกคร่อมเพาเวอร์มอสเฟตลงไปอีก 1V เหลือแรงดันตกคร่อมขดไพรมารี่แค่ 2.5V ต่ำไปหน่อย) 


เมื่อทดลองเปลี่ยน C1 กับ C2 ให้มีค่ามากขึ้น พบว่าไม่ให้ผลที่ดีขึ้นที่ค่าแรงดันต่ำๆ (7V) แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นแบบ low ESR ค่ากระแสสูงสุดขยับขึ้นมาได้เป็น 250mA แสดงว่าค่าแรงดันขาเข้าจากข้อกำหนดนั้นต่ำไปสำหรับฮาล์ฟบริดจ์ที่ออกแบบมาน่าจะจริง


ต่อไปวัดดูลักษณะรูปคลื่นที่ฝั่งไพรมารี่ของกระแสที่ไหลผ่านเพาเวอร์ทรานซิสเตอร์ (มอสเฟต) ขณะวงจรทำงานจะเป็นดังรูปข้างล่าง จะเห็นว่าค่ากระแสสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 950 mA เมือโหลดดึงกระแส 300mA ซึ่งสอดคล้องกับค่า Np/Ns และใกล้เคียงกับที่คำนวณไว้พอสมควร






สำหรับลักษณะรูปคลื่นของกระแสที่ฝั่งเซคั่นดารี่ที่ผ่านไดโอด D1 กับ D2 และเอาต์พุตโช้ค Lo จะเป็นดังนี้





รูปคลื่นของกระแสฝั่งเซคั่นดารี่ที่ผ่านไดโอด D1 กับ D2 (บน ล่าง) และเอาต์พุตโช้ค Lo (กลาง)



แรงดันที่ตกคร่อมเพาเวอร์ทรานซิสเตอร์ขณะวงจรทำงานจะเป็นดังรูปข้างล่าง





จากรูปคลื่นที่ได้จะเห็นว่าเมื่อเพาเวอร์ทรานซิสเตอร์ตัวหนึ่งนำกระแส ค่าแรงดันตกคร่อมขณะหยุดนำกระแสของอีกตัวหนึ่งจะมีค่าเท่ากับแรงดันขาเข้า และเมื่อเพาเวอร์ทรานซิสเตอร์หยุดนำกระแสพร้อมกัน ค่าแรงดันตกคร่อมของเพาเวอร์ทรานซิสเตอร์แต่ละตัวจะมีค่าเพียงครึ่งหนึ่งของแรงดันขาเข้า (แบ่งครึ่งแรงดันกันไป) 
นอกจากนี้จะสังเกตเห็นสไปค์และเรโซแนนซ์ขณะเริ่มหยุดนำกระแสค่อนข้างชัดเจน เปรียบเทียบกับที่จำลองใน LTspice IV แล้วค่อนข้างใกล้เคียงกันมาก แต่วงจรจริงจะมีลักษณะของการหน่วงเรโซแนนซ์ที่มากกว่าครับ



ลักษณะแรงดันตกคร่อมเพาเวอร์มอสเฟตขณะทำงาน  ได้จากการจำลองการทำงานของวงจรฮาล์ฟบริดจ์คอนเวอร์เตอร์ใน LTspice IV


ต่อไปทดลองเพิ่ม RC สนับเบอร์ คร่อมที่ตัวเพาเวอร์มอสเฟตทั้ง 2 ตัว ดังในรูป




จุดที่เพิ่ม RC สนับเบอร์เข้าไปนวงจร เพื่อลดเรโซแนนซ์และแรงดันไสปค์เมื่อเพเวอร์มอสเริ่มหยุดนำกระแส

ผลที่ได้เป็นดังในรูปนี้ 




ลักษณะแรงดันตกคร่อมเพาเวอร์มอสเฟตขณะทำงานเมื่อใส่ RC สนับเบอร์คร่อมที่ขา D กับ S ของเพาเวอร์มอสเฟต

จะเห็นว่า RC สนับเบอร์ที่เพิ่มเข้ามาในวงจรสามารถลดเรโซแนนซ์ลงไปได้หมด และกดสไปค์ลงไปได้มากพอสมควร เปรียบเทียบกับที่จำลองใน LTspice IV แล้วก็ถือว่ามีลักษณะใกล้เคียงกันมากเลยทีเดียว





ลักษณะแรงดันตกคร่อมเพาเวอร์มอสเฟตขณะทำงานเมื่อใส่ RC สนับเบอร์คร่อมที่ขา D กับ S ของเพาเวอร์มอสเฟต จากการจำลองการทำงานของวงจรฮาล์ฟบริดจ์คอนเวอร์เตอร์ใน LTspice IV



การทดลองสำหรับวงจรฮาล์ฟบริดจ์คอนเวอร์เตอร์ในเบื้องต้นคงมีเท่านี้ สำหรับฟูลบริดจ์คอนเวอร์เตอร์ผมจะขอข้ามไป คิดว่าเป็นแบบฝึกหัดให้ทดลองทำด้วยตัวเองครับ (หม้อแปลงให้ใช้ค่าและพันแบบเดียวกับพุชพูลคอนเวอร์เตอร์ได้เลย แต่ใช้ขดลวดไพรมารี่ขดเดียว)

สำหรับตอนต่อๆ ไป จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการพัน "หม้อแปลงสวิตชิ่ง" ในเบื้องต้นครับ





วันอังคารที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2558

High-Side Gate Drive ด้วยไอซีเบอร์ IR2110

หลังจากเขียนบทความ วิเคราะห์การออกแบบฮาล์ฟบริดจ์คอนเวอร์เตอร์ด้วย LTspice IV  เสร็จ และกำลังจะทดลองสร้างตามวงจร ผมก็นึกขึ้นได้ว่า "ฮาล์ฟบริดจ์คอนเวอร์เตอร์" จัดวงจรอยู่ในลักษณะที่มีส่วนที่เรียกกันว่า High-Side (เพาเวอร์มอสเฟตตัวบน) กับ Low-Side (ตัวล่าง) การขับเพาเวอร์มอสเฟตในส่วน high-side นั้นจำเป็นต้องใช้หม้อแปลง pluse หรือหาไอซี High-side driver มาคั่นก่อนเข้าขาเกต กับขาซอร์ส ไม่เช่นนั้นอาจมีปัญหาจุดกราวด์อ้างอิงของขาเกต

แต่เนื่องจากไม่อยากพันหม้อแปลง pluse เลยทดลองค้นเบอร์ไอซีที่มี High-side driver จาก google พบว่าเบอร์ IR2110 มีข้อมูลค่อนข้างเยอะ เช็คดูว่ามีขายในบ้านเราก็เลยหามาทดลองดู เผื่อว่าจะใช้ IR2110 กับวงจรฮาล์ฟบริดจ์คอนเวอร์เตอร์ที่จะทดลอง แต่ก่อนจะเอาไปใช้คงต้องทำความรู้จักและหาวิธีใช้มันเสียก่อนครับ


ปัญหาของ High-Side Drive

โดยปกติวงจรฮาล์ฟบริดจ์จะจัดวงจรอยู่ในลักษณะเพาเวอร์มอสเฟตแบ่งครึ่งแรงดัน จึงมีลักษณะของ high-side (ตัวบน) และ low-side (ตัวล่าง) ดังในรูป




การขับเพาเวอร์มอสเฟตโดยทั่วไป จะต้องให้แรงดันที่ขาเกต (GATE) สูงกว่าแรงดันที่ขาซอร์ส (SOURCE) ประมาณ 10-15 โวลต์ ซึ่งจะเห็นว่าเพาเวอร์มอสเฟตตัวล่างหรือ low-side นั้น ขาซอร์สจะต่อโดยตรงที่เส้นกราวด์ แรงดันจากวงจรขับที่ต่อเข้ากับขาเกตก็จะเป็นแรงดันเทียบกับกราวด์โดยตรง จึงไม่มีปัญหากับ PWM ในการจ่ายแรงดันขับเกตที่ระดับ 10-15โวลต์ แต่สำหรับเพาเวอร์มอสเฟตตัวบนหรือ high-side นั้น ขาซอร์สจะต่อผ่านโหลดลงกราวด์ ส่วนขาเดรน (D) จะต่อเข้ากับส่วนที่เป็นแรงดันไฟเลี้ยงบริดจ์  หมายความว่าแรงดันขับที่ขาเกตสำหรับ high-side จะต้องสูงกว่าแรงดันไฟเลี้ยงบริดจ์ ซึ่งจะเป็นปัญหาทันทีหากแรงดันไฟเลี้ยงบริดจ์เป็นแรงดันค่าสูงๆ เช่น 300VDC เนื่องจากวงจรขับทั่วไปส่วนใหญ่จะมีแรงดันค่าต่ำๆ (วงจร logic ทั่วไป) คือ อยู่ที่ประมาณ 5-15V เท่านั้นเอง

วิธีง่ายๆ และไม่แพงนักที่นิยมใช้ในการขับเพาเวอร์มอสเฟตในลักษณะนี้ก็คือ การใช้หม้อแปลง pluse เพื่อแยกแรงดันอ้างอิงให้ขาเกตและซอร์ส แต่จะมีข้อเสียเรื่องขนาดของหม้อแปลง ข้อจำกัดเรื่องความถี่การทำงาน และสัญญานรบกวน (และเสียเวลาพันหม้อแปลง)



วิธีที่ยุ่งยากขึ้นมาอีกนิดหน่อยแต่ก็เป็นเทคนิคยอดนิยมเช่นกัน คือ เทคนิคที่เรียกว่า Bootstrap ซึ่ง IR2110 ที่จะนำมาทดลองก็ใช้เทคนิคนี้เป็นพื้นฐานการทำงาน


Bootstrap เทคนิค

วงจรพื้นฐานทั่วไปของ IC High-Side Driver ที่ใช้เทคนิค Bootstrap จะเป็นดังรูปข้างล่าง (เป็น circuit diagram ของ IC เบอร์ ISL6700 ครับ เพราะดูง่ายกว่าของ IR2110)



จากรูปนี้จะเห็นว่ามีส่วนประกอบสำคัญ 3 ส่วน คือ ชุด Control  ชุด Drive Hi (high-side) และชุด Drive Lo (low-side) ขา Hi (High in) กับ Lo (Low in) จะเป็นส่วนที่รับคำสั่งจาก PWM ภายนอก เพื่อให้ชุด control ขับชุด dirve Hi หรือ Lo เพื่อขับเพาเวอร์มอสเฟตตัวบนและตัวล่างต่อไป โดยหากมองแบบคร่าวๆ ไฟเลี้ยงสำหรับชุด control ซึ่งจะได้จาก VDD เป็นไฟเลี้ยงสำหรับวงจร logic ทั่วไป ซึ่งจะกำหนดค่าให้สอดคล้องกับค่าแรงดัน logic ของ PWM ที่เข้ามายังขา Hi กับ Lo ที่อ้างอิงกับขา VSS ซึ่งจะเป็นจุดอ้างอิง common ที่ใช้ร่วมกับชุด control ชุด Drive Lo และเพาเวอร์มอสเฟตตัวล่างด้วย ซึ่งเป็นลักษณะปกติของวงจรทั่วไปเช่นกัน ดังนั้นวงจรส่วน Low-side จึงเหมือนวงจรในการขับเพาเวอร์มอสเฟตทั่วไปครับ

แต่ส่วนที่พิเศษแยกออกมา คือส่วนของ HB HO และ HS ของชุด Drive Hi ที่จะใช้ขับเพาเวอร์มอสเฟตตัวบน ซึ่งจะแยกเป็นชุดลอย (Floating) ออกมา ขา HB จะเป็นจุดต่อไฟจ่ายแรงดันที่จะขับออกมาทาง HO เพื่อใช้ขับขาเกตของเพาเวอร์ทรานซิสเตอร์ตัวบน โดยแรงดันที่จุด HB กับ HO นี้จะเป็นแรงดันที่อ้างอิงกับค่าแรงดันที่ขา HS 

สำหรับ +HV จะเป็นแรงดันขับโหลดของบริดจ์ผ่านเพาเวอร์มอสเฟตตัวบนและล่าง ซึ่งจะอ้างอิงกับจุดกราวด์ในรูป ซึ่งจะเป็นจุด common ที่ใช้ร่วม กับ VDD

และเพื่อให้มีแรงดัน float เกิดขึ้นในชุด Drive Hi ก็ต้องเพิ่ม Dboot กับ Cboot เข้ามาในวงจรดังรูปนี้ครับ





เนื่องจาก VCC เป็นแรงดันที่อ้างอิงกับ VSS (และจุดร่วม) ดังนั้น Cboot จะถูกชาร์จประจุและเกิดแรงดันตกคร่อมตัวมันในจังหวะที่เพาเวอร์มอสเฟตตัวล่างนำกระแส (ตัวบนไม่นำกระแส) ด้วยแรงดันที่ได้จาก VCC ผ่านไดโอด Dboot ผ่านตัว Cboot แล้วลงกราวด์ ดังนั้นเมื่อเพาเวอร์มอสเฟตตัวล่างหยุดนำกระแสแรงดันที่ตกคร่อม Cboot ก็จะกลายเป็นแรงดันลอย floating ตามต้องการ ที่สามารถใช้จ่ายให้ขา HB เพื่อเป็นแรงดันขับเพาเวอร์มอสเฟตตัวบนในจังหวะถัดมา ทำให้แรงดันที่ HB มีค่าสูงกว่าแรงดันที่ขาเดรน (Drain) ของเพาเวอร์มอสเฟตตัวล่างเมื่อเทียบกับจุดกราวด์ได้ ซึ่งหากกำหนดค่า Cboot ให้เหมาะสมก็จะมีค่าแรงดันและกระแสที่เพียงพอจะขับขาเกตของเพาเวอร์ทรานซิสเตอร์ตัวบนให้ทำงานได้

หลักการโดยคร่าวๆ ของ Bootstrap เทคนิคก็คงมีเพียงเท่านี้ครับ



IR2110 High and Low Side Driver IC

ต่อไปจะเป็นการทดลองใช้งาน IC เบอร์ IR2110 ซึ่งเอาต์พุตสำหรับขับเพาเวอร์มอสเฟตของตัวนี้มีทั้ง High-Side กับ Low-Side ครับ

Block Diagram ของ IR2110 นั้นค่อนข้างใกล้เคียงกับวงจรที่นำมาอธิบายไว้ข้างบน ดังนั้นคงไม่จำเป็นต้องอธิบายเพิ่มเติมอีก (ลองเข้าไปหาดู datasheet ได้ในอินเตอร์เน็ตได้) นอกจากขา SD (Shut Down) ที่เอาไว้สั่งหยุดเอาต์พุต HO กับ LO ครับ ไอซีเบอร์ IR2110 ตัวนี้สามารถใช้ขับวงจรฮาล์ฟบริดจ์ที่ต่อเข้ากับแรงดัน +HV ได้สูงถึง 500-600V โดยจ่ายแรงดันขับเกตได้อยู่ในช่วง 10-20V และกระแสที่ +/-2A

วงจรที่ผมใช้ต่อทดลองวงจรเป็นดังนี้ครับ






PWM_A กับ PWM_B ใช้ output1 กับ output2 ของ TL494 (ดู PWM สำหรับทดสอบคอนเวอร์เตอร์) รูปข้างล่างนี้เป็นวงจรที่ประกอบขึ้นครับ










รูปคลื่นที่ได้จากขา HO กับขา LO จะเป็นดังนี้




รูปคลื่นที่ได้จาก IR2110 ต่อตามวงจรข้างบน รูปบนจากขา HO รูปล่างจากขา LO (ต่อ HSD_RTN ผ่าน R 56 โอห์มลงกราวด์)


ถ้าวงจรไม่ได้ต่อเข้ากับฮาล์ฟบิรดจ์ เวลาทดลองเพื่อดูรูปคลื่นของ HO กับ LO ทำได้โดยต่อ HSD_RTN ลงกราวด์หรือต่อเข้ากับ R ค่า 50 -100 โอห์มลงกราวด์ (ให้ Cboot ได้ชาร์จ)

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ High-Side Drive 
AN-6076 Design and Application Guide of Bootstrap Circuit for High-Voltage Gate-Drive IC 

Application Note AN-978. HV Floating MOS-Gate Driver ICs

IR2110 Data Sheet