เมื่อแรกๆ
ที่เริ่มทดลองเกี่ยวกับสวิตชิ่งเพาเวอร์ซัพพลาย ผมเจอปัญหาว่าผมควรลงมือสร้างอะไรก่อนดี
ระหว่าง “โหลด” กับ “เพาเวอร์ซัพพลาย” ซึ่งด้วยทุนและเวลาที่มีอยู่จำกัดในตอนนั้น
มันจึงเป็นอะไรที่ตัดสินใจค่อนข้างยากเลยทีเดียวสำหรับผม
ระหว่างการเลือกทำโหลดอิเล็กทรอนิกส์ดีๆ
สักตัว แต่ทำเสร็จแล้วไม่มีเพาเวอร์ซัพพลายมาให้ทดสอบการทำงานของโหลด
หรือจะทำเพาเวอร์ซัพพลายให้เสร็จก่อน แต่ก็ไม่มีโหลดมาใช้ทดสอบซัพพลายทำขึ้นมาเหมือนกัน
มันรู้สึกคล้ายๆ
ปัญหา “ไก่” กับ “ไข่” อะไรควรเกิดก่อนกันยังไงยังงั้น
ส่วนตอนนี้ไม่มีปัญหา
ผมมีเพาเวอร์ซัพพลายดีๆ ให้ใช้อยู่หลายตัว ที่พร้อมใช้ทดสอบความสามารถของอิเล็กทรอนิกส์โหลดที่สร้างขึ้นมาได้เลย
แต่ถ้าใครมีปัญหาเหมือนผมเมื่อก่อน
ก็ขอแนะนำให้ทำอิเล็กทรอนิกส์โหลดเพื่อใช้สำหรับทดสอบเพาเวอร์ซัพพลายก่อนเลย
ตามบทความนี้ โดยใช้แบต 9 โวลท์ก้อนสี่เหลี่ยม
เป็นแหล่งจ่ายและเป็นเพาเวอร์ซัพพลายเพื่อทดสอบโหลดที่ทำขึ้นด้วย
วงจรดั้งเดิมผมเอามาจาก
Designideas
ในวารสาร EDN ฉบับ
July 28, 2011.
ชื่อบทความว่า "Power resistor varies in value" ลองค้นใน google ดูนะครับ
วงจรอิเล็กทรอนิกส์โหลดที่ทดลองสร้างขึ้น |
การทำงานของวงจรนั้นค่อนข้างง่าย
จากวงจรจะเห็นว่าถ้าต่อเพาเวอร์ซัพพลายเข้าที่จุด P1 และ P2 แล้ว ตัวต้านทาน R3 กับ R2 จะทำหน้าที่เป็นวงจรแบ่งแรงดัน
โดยแรงดันที่ตกคร่อม R2 จะทำหน้าที่เป็นแรงดันอ้างอิง
VREF ป้อนเข้าทางอินพุตขาบวกของออปแอมป์
และเนื่องจากแรงดันระหว่าง input
ที่ขาบวกกับขาลบของออปแอมป์จะมีค่าความต่างศักย์เท่ากับ 0 ทำให้แรงดันที่ตกคร่อม R1 จึงต้องมีค่าเท่ากับแรงดัน
VREF ที่ตกคร่อม
R2 ตามไปด้วย เมื่อวงจรทำงาน
ที่ขาเอาพุตท์ของออปแอมป์ก็จะพยายามปรับกระแสที่ไหลผ่านตัวเพาเวอร์ทรานซิสเตอร์
(กระแสที่ไหลผ่าน R1)
เพื่อให้ให้วงจรสมดุล
ดังนั้นเมื่อต่อเพาเวอร์ซัพพลายเข้าที่
P1 และ P2 วงจรก็จะดึงกระแสตามสมการ
หรือถ้าคิดว่าจุด P1
และ P2
เป็นตัวต้านทานตัวหนึ่งที่มีค่าความต้านทานเท่ากับ R
ก็จะมีค่าตามสมการ
หมายความว่าค่าความต้านทานของโหลดวงจรนี้ จะสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามค่า k (หรือค่าของ
R2 กับ
R3) และไม่ขึ้นกับค่าแรงดันของเพาเวอร์ซัพพลายที่นำมาทดสอบ
ในที่นี้ผมเลือก R3 ให้เป็นตัวต้านทานค่าคงที่เท่ากับ 1MΩ เลือก R1 เท่ากับ 0.1 Ω และเลือก R2 ให้เป็นตัวต้านทานปรับค่าได้ค่า 50kΩ ก็จะได้โหลดอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถปรับค่าได้อยู่ที่ประมาณ 2Ω-20Ω
(ตารางค่า R ที่ได้จากการคำนวณใน Excel ) |
ถ้าเพาเวอร์ซัพพลายที่นำมาทดสอบมีค่าแรงดัน 5V
โหลดก็จะดึงกระแสอยู่ในช่วง 0-2.4 แอมป์ ซึ่งเพียงพอสำหรับงานทดสอบตัวอย่างคอนเวอร์เตอร์แบบต่างๆ
ที่ผมจะได้เขียนลงใน Blog นี้ให้ในตอนต่อๆ ไปครับ
การทำงานของวงจรโดยละเอียดมีอธิบายอยู่ในบทความ
ดังนั้นถ้า ใครอยากทำความเข้าใจให้มากกว่านี้ก็ลองเข้าไปหาดาวน์โหลดมาอ่านกันเองนะครับ
ออปแอมป์ใช้เบอร์ LM10 และเพาเวอร์ทรานซิสเตอร์ใช้เบอร์ 2N4602 หรือจะเลือกใช้เบอร์อื่นแทนก็ได้ครับ (ผมมีเบอร์นี้อยู่แล้ว) ส่วนที่ใช้ออปแอมป์เบอร์ LM10 เนื่องจากใช้ไฟเลี้ยงต่ำมาก สามารถทิ้งแบตเตอรี่ที่เป็นไฟเลี้ยงวงจรไว้ได้เลยไม่ต้องแกะออก
และเบอร์นี้ผมเผื่อเอาไว้ทำอิเล็กทรอนิกส์โหลด “ขั้นเทพ” กว่าวงจรนี้ ซึ่งจะเอามานำเสนอให้ในลำดับต่อๆ ไปครับ
รูปนี้ทดสอบโหลดที่ทำขึ้นมาที่แรงดัน 5V จะเห็นว่าเพาเวอร์ซัพพลายจ่ายกระแสออกมาที่ 300 mA เมื่อปรับให้แรงดันที่ R1 มีค่า 30mV ( 0.30A x 0.1Ω )
เมื่อปรับโหลดให้กินกระแสที่ 1A ทิ้งไว้มากกว่า 1 ชั่วโมง อุณหภูมิที่ตัวเพาเวอร์ทรานซิสเตอร์ขณะทำงานประมาณ 58 องศา C และที่กระแส 2A อุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 90 องศา C สเปคของ 2N4602 ทนอุณหภูมิสูงสุดขณะทำงานได้ 150 องศา C วงจรจึงยังคงทำงานได้สบายที่แรงดัน 5V กระแส 2A
การใช้งานโหลดที่แรงดันและกระแสค่าต่างๆ อย่าลืมดูเรื่องความร้อนของเพาเวอร์ทรานซิสเตอร์ขณะทำงานด้วยนะครับ