วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ไก่กับไข่อะไรควรเกิดก่อน กับเรื่องของอิเล็กทรอนิกส์โหลด

เมื่อแรกๆ ที่เริ่มทดลองเกี่ยวกับสวิตชิ่งเพาเวอร์ซัพพลาย ผมเจอปัญหาว่าผมควรลงมือสร้างอะไรก่อนดี ระหว่าง “โหลด” กับ “เพาเวอร์ซัพพลาย” ซึ่งด้วยทุนและเวลาที่มีอยู่จำกัดในตอนนั้น มันจึงเป็นอะไรที่ตัดสินใจค่อนข้างยากเลยทีเดียวสำหรับผม

ระหว่างการเลือกทำโหลดอิเล็กทรอนิกส์ดีๆ สักตัว แต่ทำเสร็จแล้วไม่มีเพาเวอร์ซัพพลายมาให้ทดสอบการทำงานของโหลด หรือจะทำเพาเวอร์ซัพพลายให้เสร็จก่อน แต่ก็ไม่มีโหลดมาใช้ทดสอบซัพพลายทำขึ้นมาเหมือนกัน

มันรู้สึกคล้ายๆ ปัญหา “ไก่” กับ “ไข่” อะไรควรเกิดก่อนกันยังไงยังงั้น

ส่วนตอนนี้ไม่มีปัญหา ผมมีเพาเวอร์ซัพพลายดีๆ ให้ใช้อยู่หลายตัว ที่พร้อมใช้ทดสอบความสามารถของอิเล็กทรอนิกส์โหลดที่สร้างขึ้นมาได้เลย

แต่ถ้าใครมีปัญหาเหมือนผมเมื่อก่อน ก็ขอแนะนำให้ทำอิเล็กทรอนิกส์โหลดเพื่อใช้สำหรับทดสอบเพาเวอร์ซัพพลายก่อนเลย ตามบทความนี้ โดยใช้แบต 9 โวลท์ก้อนสี่เหลี่ยม เป็นแหล่งจ่ายและเป็นเพาเวอร์ซัพพลายเพื่อทดสอบโหลดที่ทำขึ้นด้วย

วงจรดั้งเดิมผมเอามาจาก Designideas ในวารสาร EDN ฉบับ July 28, 2011. ชื่อบทความว่า "Power resistor varies in value" ลองค้นใน google ดูนะครับ 

ซี่งวงจรดั้งเดิมนั้นใช้เพาเวอร์มอสเฟตเป็นโหลดครับ แต่วงจรจริงที่ผมดัดแปลงมาใช้นั้น ผมใช้เพาเวอร์ทรานซิสเตอร์แทนมอสเฟต ซึ่งหน้าตาจะเป็นดังนี้

วงจรอิเล็กทรอนิกส์โหลดที่ทดลองสร้างขึ้น




การทำงานของวงจรนั้นค่อนข้างง่าย จากวงจรจะเห็นว่าถ้าต่อเพาเวอร์ซัพพลายเข้าที่จุด P1 และ P2 แล้ว ตัวต้านทาน R3 กับ R2 จะทำหน้าที่เป็นวงจรแบ่งแรงดัน โดยแรงดันที่ตกคร่อม R2 จะทำหน้าที่เป็นแรงดันอ้างอิง VREF ป้อนเข้าทางอินพุตขาบวกของออปแอมป์ และเนื่องจากแรงดันระหว่าง input ที่ขาบวกกับขาลบของออปแอมป์จะมีค่าความต่างศักย์เท่ากับ 0 ทำให้แรงดันที่ตกคร่อม R1 จึงต้องมีค่าเท่ากับแรงดัน VREF ที่ตกคร่อม R2 ตามไปด้วย เมื่อวงจรทำงาน ที่ขาเอาพุตท์ของออปแอมป์ก็จะพยายามปรับกระแสที่ไหลผ่านตัวเพาเวอร์ทรานซิสเตอร์ (กระแสที่ไหลผ่าน R1) เพื่อให้ให้วงจรสมดุล


ดังนั้นเมื่อต่อเพาเวอร์ซัพพลายเข้าที่ P1 และ P2 วงจรก็จะดึงกระแสตามสมการ




หรือถ้าคิดว่าจุด P1 และ P2 เป็นตัวต้านทานตัวหนึ่งที่มีค่าความต้านทานเท่ากับ R
ก็จะมีค่าตามสมการ



หมายความว่าค่าความต้านทานของโหลดวงจรนี้  จะสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามค่า k (หรือค่าของ R2 กับ R3) และไม่ขึ้นกับค่าแรงดันของเพาเวอร์ซัพพลายที่นำมาทดสอบ

ในที่นี้ผมเลือก R3 ให้เป็นตัวต้านทานค่าคงที่เท่ากับ 1MΩ เลือก R1 เท่ากับ 0.1 Ω และเลือก R2 ให้เป็นตัวต้านทานปรับค่าได้ค่า 50kΩ ก็จะได้โหลดอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถปรับค่าได้อยู่ที่ประมาณ 2Ω-20Ω  

(ตารางค่า ที่ได้จากการคำนวณใน Excel )


ถ้าเพาเวอร์ซัพพลายที่นำมาทดสอบมีค่าแรงดัน 5V โหลดก็จะดึงกระแสอยู่ในช่วง 0-2.4 แอมป์ ซึ่งเพียงพอสำหรับงานทดสอบตัวอย่างคอนเวอร์เตอร์แบบต่างๆ ที่ผมจะได้เขียนลงใน Blog นี้ให้ในตอนต่อๆ ไปครับ


การทำงานของวงจรโดยละเอียดมีอธิบายอยู่ในบทความ ดังนั้นถ้า ใครอยากทำความเข้าใจให้มากกว่านี้ก็ลองเข้าไปหาดาวน์โหลดมาอ่านกันเองนะครับ 

ออปแอมป์ใช้เบอร์ LM10 และเพาเวอร์ทรานซิสเตอร์ใช้เบอร์  2N4602 หรือจะเลือกใช้เบอร์อื่นแทนก็ได้ครับ (ผมมีเบอร์นี้อยู่แล้ว)  ส่วนที่ใช้ออปแอมป์เบอร์ LM10 เนื่องจากใช้ไฟเลี้ยงต่ำมาก สามารถทิ้งแบตเตอรี่ที่เป็นไฟเลี้ยงวงจรไว้ได้เลยไม่ต้องแกะออก และเบอร์นี้ผมเผื่อเอาไว้ทำอิเล็กทรอนิกส์โหลด “ขั้นเทพ” กว่าวงจรนี้ ซึ่งจะเอามานำเสนอให้ในลำดับต่อๆ ไปครับ






รูปนี้ทดสอบโหลดที่ทำขึ้นมาที่แรงดัน 5V จะเห็นว่าเพาเวอร์ซัพพลายจ่ายกระแสออกมาที่ 300 mA เมื่อปรับให้แรงดันที่ R1 มีค่า 30mV ( 0.30A x 0.1Ω )









เมื่อปรับโหลดให้กินกระแสที่ 1A ทิ้งไว้มากกว่า 1 ชั่วโมง อุณหภูมิที่ตัวเพาเวอร์ทรานซิสเตอร์ขณะทำงานประมาณ 58 องศา C และที่กระแส 2A อุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 90 องศา C สเปคของ 2N4602 ทนอุณหภูมิสูงสุดขณะทำงานได้ 150 องศา C วงจรจึงยังคงทำงานได้สบายที่แรงดัน 5V กระแส 2A 


การใช้งานโหลดที่แรงดันและกระแสค่าต่างๆ อย่าลืมดูเรื่องความร้อนของเพาเวอร์ทรานซิสเตอร์ขณะทำงานด้วยนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น