วันอาทิตย์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2557

หนังสือเล่มนี้เริ่มจากความหลงใหล


“เราจะรู้ว่าเราหลงใหลอะไรบางอย่าง เมื่อเราอยู่ไม่สุข เมื่อตื่นขึ้นมาทุกเช้าแล้วรู้ว่าต้องสร้าง
(หรือทำ) อะไรก็ตามที่เราหลงใหล”

เอคาเทรีนา วอลเตอร์
คิดแบบอัจฉริยะ มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก (ฉบับแปลโดย พิมพ์ใจ สุรินทรเสรี)


เรื่องของ “สวิตชิ่งเพาเวอร์ซัพพลาย” สำหรับผมแล้วมันเป็นอย่างนี้จริงๆ 

มันทำให้ผมได้ทำอะไรบางอย่างขึ้นมา นั่นคือการเขียนหนังสือเล่มแรกในชีวิตที่ชื่อว่า “เทคนิคและการออกแบบสวิตชิ่งเพาเวอร์ซัพพลาย” พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2537 และพิมพ์อีกเป็นครั้งที่ 2 ในปีถัดมา

จัดว่าเป็นหนังสือที่ขายดีเล่มหนึ่งของผมเลยทีเดียว



เมื่อยี่สิบกว่าปีมาแล้วในช่วงที่เริ่มเขียนหนังสือเล่มนี้ สวิตชิ่งเพาเวอร์ซัพพลายนั้นค่อนข้างเป็นอะไรที่ “ลึกลับ” และ “ซับซ้อน” สำหรับนักอิเล็กทรอนิกส์สมัครเล่นทั่วไปมาก บทความหรือหนังสือที่เป็นภาษาไทยที่เกี่ยวกับ สวิตชิ่งเพาเวอร์ซัพพลายนั้นก็หาอ่านยากครับ

แต่ผมสังเกตว่าที่ร้านหนังสือดวงกมล (ที่มาบุญครอง ปิดไปนานแล้ว) สั่งหนังสือ Switching Power Supply Design ของ Pressman มาขายเยอะมาก ทั้งๆ ที่เป็นหนังสือภาษาอังกฤษแต่ก็ขายดี แสดงว่าในมีคนสนใจเรื่องนี้มากพอสมควร

ถ้ามีหนังสือภาษาไทยก็น่าจะมีคนอ่าน 

ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะหนังสือ “เทคนิคและการออกแบบสวิตชิ่งเพาเวอร์ซัพพลาย” เล่มนี้พิมพ์ครั้งที่ 2 ภายในเวลาแค่ปีเดียว และขายไปมากกว่า 6,000 เล่ม

แต่กว่าฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 จะหมดก็นานพอสมควร และผมก็ติดเรื่องอื่นๆ สนใจไปอีกหลายปี จนหนังสือหมดและมีคนถามหากันมาก แต่เมื่อเริ่มคิดจะพิมพ์ครั้งที่ 3 ก็รู้สึกว่า เนื้อหามันเก่าและน้อยไปแล้ว เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปมากของสวิตชิ่งเพาเวอร์ซัพพลาย

เลยคิดว่าเขียนเล่มใหม่ที่มีเนื้อหาครบถ้วน และเพียงพอกับสวิตชิ่งเพาเวอร์ซัพพลายแบบที่ใช้กันแพร่หลายอยู่ในเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์แทบทุกอย่างในปัจจุบันน่าจะดีกว่า

แต่ติดปัญหาอยู่ตรงที่หนังสือเล่มใหม่นี้คงใช้เวลาอีกเกือบปี กว่าจะพิมพ์เป็นรูปเล่มออกมาได้

ก็เลยจะพิมพ์หนังสือ “เทคนิคและการออกแบบสวิตชิ่งเพาเวอร์ซัพพลาย” เล่มเดิมนี้ออกมาเป็นครั้งที่ 3 เสียก่อนเป็นลำดับแรก เพราะทำได้เร็วกว่า และหัวใจสำคัญของการออกแบบสวิตชิ่งเพาเวอร์ซัพพลายนั้น ส่วนหนึ่งอยู่ที่การออกแบบ “หม้อแปลงสวิตชิ่ง” ซึ่งผมคิดว่าหลักการออกแบบที่เขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้ "ยังใช้ได้ดีอยู่" จากนั้นจึงค่อยพิมพ์เล่มใหม่ที่เนื้อหาสมบูรณ์ตามมาก็จะต่อเนื่องพอดีกัน

และเนื่องจากโลกโซเชี่ยลออนไลน์ในปัจจุบันที่คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงได้หมดแล้ว ทำให้ผมคิดว่าการจัดทำ Blog เพื่อนำเสนอตัวอย่างการสร้างและทดสอบคอนเวอร์เตอร์แบบต่างๆ ที่เขียนไว้ในหนังสือ น่าจะทำให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างได้ไม่น้อย สำหรับผู้สนใจในสวิตชิ่งเพาเวอร์ซัพพลายทั่วไปที่ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้อ่านหนังสือของผม 

จึงเป็นที่มาของ Blog นี้ครับ

หมายเหตุ: ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 เริ่มวางจำหน่ายแล้วเมื่อต้นเดือน พฤศจิกายน 2558 หาได้ตามร้านหนังสือทั่วไปแล้วครับ ผมพยายามให้หน้าปกดูใกล้เคียงฉบับพิมพ์ครั้งก่อน จะได้จำง่าย   หรือจะเช็คจากเลข ISBN: 9786169122821 ก็ได้ครับ




14 ความคิดเห็น:

  1. เขาว่าหายากมาก จะมีอยู่ตามห้องสมุดมากกว่า ไม่ทราบว่ายังมีขายที่ไหนครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 กำลังจัดพิมพ์อยู่ครับ น่าจะมีวางขายได้ช่วงปลายเดือนกันยายนหรือต้นเดือนตุลาคมนี้ครับ

      ลบ
    2. หนังสือน่าจะหาซื้อได้ที่่ร้านหนังสือทั่วไปแล้วนะครับ

      ลบ
  2. ไม่ทราบว่า วางขายที่ไหนครับสั่งซื้อทางออนไลน์ได้ไหม

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ปลายเดือนตุลาคมนี้น่าจะวางขายตามร้านหนังสือทั่วไปได้แล้วครับ

      ลบ
    2. หนังสือน่าจะเริ่มวางที่่ร้านหนังสือทั่วไปแล้วนะครับ

      ลบ
    3. ได้หนังสือมาแล้วครับ อยากถามเกี่ยวกับการออกแบบ transformer ว่าเราจะออกแบบอย่างไรเพื่อให้ core เป็น pri หรือ core เป็น sec หรือมีวิธี check อย่างไรให้รู้ว่า transformer ตัวนั้นมี core เป็น pri หรือ sec ครับ เพราะมีความสำคัญกับการออกแบบ layout ว่าต้องกำหนด creepage กับ clearance กับ component ที่อยู่ใกล้ตัวหม้อแปลง ขอบคุณครับ

      ลบ
    4. ขอบคุณครับ ผมมองอย่างนี้ครับเวลาทดสอบ dielectric strength จะทดสอบทั้ง winding to winding และ winding to core ดังนั้นจึงควรถือว่า core เป็น pri เสมอครับ ในแง safety (หรืออาจดูว่าขดนอกสุดที่จะสัมผัสกับ core เป็น pri หรือ sec ก็น่าจะได้ )

      หากถือว่า core เป็น pri เสมอเราก็อาจลดผลกระทบจากตัวอุปกรณ์ที่สูงๆ รอบๆ หม้อแปลงด้วยการใช้เทปพันที่ core ส่วนอุปกรณ์ตัวเตี้ยลดได้ด้วยการเลือกใช้ บอบบิ้น ที่ได้มาตรฐาน safety ซึ่งจะออกแบบให้มีcreepage กับ clearance ของ core ที่เพียงพอให้อยู่แล้ว ลองดูบทความนี้ตรงหัวข้อ safety regulations อาจได้แนวทางเพิ่มเติมครับ http://www.lodestonepacific.com/bobbinarticle.pdf

      หวังว่าคงช่วยได้บ้างนะครับ

      ลบ
  3. สอบถามเรื่องสูตรการหา NP/NS หน้า18 หน่อยครับผมแทนค่าอย่างไรก็ไม่ได้ 6.14

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ครับ ตัวเลขผิดครับ VCE max ที่จริงต้องเป็น 50 โวลต์ครับ จะได้Np/Ns = 6.14
      ขอบคุณมากนะครับ จะแก้ใน blog และในฉบับครั้งต่อไปด้วย

      ลบ
  4. ไม่ลงเป็น ebook หรือครับ

    ตอบลบ
  5. อยากติดต่อคุณ สุวัฒน์หน่อยครับเรื่องงาน รบกวนติดต่อกลับที่ 089-7115848 หน่อยนะครับ

    ตอบลบ