วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2558

วงจรทดลองเพื่อศึกษาการทำงานของฟลายแบคคอนเวอร์เตอร์

บทความตอนนี้เราจะเริ่มทดสอบผลการออกแบบฟลายแบคคอนเวอร์เตอร์กับวงจรจริงกันแล้วครับ

โดยจะนำค่าต่างๆ ที่ได้คำนวณและจำลองการทำงานของฟลายแบคคอนเวอร์เตอร์ใน LTspice IV (เข้าไปดูได้ใน วิเคราะห์การออกแบบสวิตชิ่งเพาเวอร์ซัพพลายด้วยโปรแกรม LTSPICE IV ตอนที่ 3มาทดสอบ ซึ่งเมื่อกำหนดค่าแล้วจะได้วงจรที่จะใช้ทดสอบตามนี้



วงจรที่จะนำมาทดอลงเพื่อดูการทำงานจริงของฟลายแบคคอนเวอร์เตอร์ เพาเวอร์มอสเฟตในวงจรไม่จำเป็นต้องเป็นเบอร์นี้ แต่ขอให้ทนแรงดันได้ 60V กระแส 1A ขึ้นไป 

สำหรับวงจร PWM ผมใช้ TL494 มาปรับเป็นแหล่งกำเนิด PWM ตามที่เคยลงไว้ในบทความตอน PWM สำหรับทดสอบคอนเวอร์เตอร์  ในที่นี้เราจะใช้กับฟลายแบคคอนเวอร์เตอร์ ดังนั้นจึงใช้โหมด Single-ended คือ Output1 และ Output2 ทำงานพร้อมกัน ซึ่งทำได้โดยปล่อยขา 13 ให้ลอยไว้ ส่วน output นั้นเลือก Output ไหนมาใช้ก็ได้ครับ 

วงจร PWM ที่จะนำมาใช้ควบคุมการทำงานของวงจร


สำหรับวงจรนี้สัญญานจาก output1 หรือ output2 ของ TL494 ก่อนต่อเข้าขา G ของเพาเวอร์มอสเฟต (PWM_A) ผมใส่วงจร Totem Pole คั่นเอาไว้ด้วย 

เพาเวอร์มอสเฟตใช้เบอร์ R6004ENDTL ของ Rohm แต่ไม่จำเป็นต้องใช้เบอร์นี้ก็ได้ขอให้ทนแรงดันได้ประมาณ 60V ที่กระแส 1A ขึ้นไปก็พอ ที่ใช้เบอร์นี้เพราะเห็นว่าถูกดีและเป็นแบบ surface mount ซึ่งทำให้ตัวเล็กหน่อย ไดโอดใช้ Schottky เบอร์อะไรก็ได้เช่นกัน ขอให้ทนกระแสได้ประมาณ 1A ก็พอ วงจรนี้ผมใช้เบอร์ RB050L-60TE25 เป็นแบบ surface mount เหมือนกัน

ต่อมาเป็นตัวอุปกรณ์สำคัญคือ "หม้อแปลงสวิตชิ่ง" ตัวที่ใช้ในวงจรนี้พันขึ้นใช้เอง วิธีการออกแบบหม้อแปลงให้ดูรายละเอียดได้ในในหนังสือ เทคนิคและการออกแบบสวิตชิ่งเพาเวอร์ซัพพลาย ผมจะข้ามไปก่อน แล้วจะเข้ามาเขียนการออกแบบและการพันหม้อแปลงสวิตชิ่งโดยละเอียดให้อีกทีครับ

การพันหม้อแปลงสามารถทำได้หลายวิธี แต่โดยพื้นฐานแล้วอาจเริ่มจากสูตรนี้ในการพันหม้อแปลงก็ได้



โดยหัวใจสำคัญก็คือ ต้องกำหนดค่าอินดัคแตนซ์ของขดลวดไพรมารี่หรือหาค่า  Lp ( หน่วยเป็นเฮนรี่  H ) ก่อน จากนั้นให้ประมาณกำลังงานที่ต้องการจากหม้อแปลงออกมาคร่าวๆ เราก็จะกะขนาดของแกนเฟอร์ไรต์ได้ ซึ่งก็จะได้ค่า Ae (หน่วยเป็น cm2)  ตามมา แล้วกำหนดค่าช่องอากาศคั่นทางเดินฟลักซ์แม่เหล็ก lg (หน่วยเป็น mm) ซึ่งเรากำหนดได้เองหรือเลือกจากแกนเฟอร์ไรต์ที่ทำมาเป็นแบบมี gap อยู่แล้วก็จะหาได้ค่า lg เช่นกัน

สุดท้ายเมื่อคำนวณออกมาก็จะได้ค่า Np เป็นจำนวนรอบในการพันขดลวด ในทางปฎิบัติบางครั้งอาจต้องทำกลับไปมาหลายๆ ครั้ง ถึงจะลงตัวครับ 

ในที่นี้เรามีค่า Lp แล้วคือ 162 x 10-6 H และเนื่องจากตัวอย่างนี้หม้อแปลงไม่ต้องจ่ายกำลังงานสูง ผมจะใช้แกนขนาดเล็กหน่อยแต่ไม่เล็กจนเกินไปจนพันขดลวดลำบาก คือ EFD20/10/7 ของ EPCOS เบอร์ B66417GX187 ถ้าหาแกนนี้ไม่ได้ก็ให้ใช้แกน EE20 หรือ EI20 หรือใกล้เคียงก็ได้เช่นกัน ขอแค่ให้รู้ค่า Ae ของแกนก็พอ ที่ใช้เบอร์นี้เพราะต้องการสเปคที่ชัดเจนและหามาใช้ได้ง่ายสำหรับผม  (ตัวนี้มี gap ให้เลือกใช้หลายขนาด)

แกนเฟอร์ไรต์ EFD20/10/7 ที่ใช้นี้มีขนาด Ae = 0.31 cm2  ผมประมาณคร่าวๆ จะใช้ ค่า lg ประมาณ 0.01 mm. ดังนั้น


เมื่อเลือกให้เป็นเลขลงตัวก็จะได้ Np=20 รอบ จากนั้นคำนวณหาจำนวนรอบ Ns จากอัตราส่วนจำนวนรอบ Np:Ns ที่เคยคำนวณเอาไว้ คือ น้อยกว่าหรือเท่ากับ 6 ลงมา ซึ่งจะได้  Ns = 20/6= 3.33 ปัดขึ้นเป็น 4 เพื่อให้อัตราส่วนจำนวนรอบน้อยกว่า 6  ดังนั้นเลือก Ns=4 รอบ และ Np:Ns ใหม่จะเท่ากับ 5:1

ผลการทดสอบอัตราส่วนจำนวนรอบ Np:Ns เมื่อพันเสร็จแล้ว ด้วยการจ่ายแรงดันคลื่นรูปไซน์ที่ความถี่ 100kHz วัดค่าแรงดันแต่ละขดเปรียบเทียบกัน ได้ Np:Ns ประมาณ 4.5 ตามรูปข้างล่างนี้ครับ



ผลการทดสอบหม้อแปลงที่พันขึ้นซึ่งวัดค่า Np:Ns ได้ประมาณ 4.5 (10.58/2.347)  และวัดจากขาที่ต้องต่อเข้าวงจรเพือวัดเฟสของขดลวดไปพร้อมกันด้วย


สำหรับช่องอากาศ lg ผมใช้เทปฉนวนที่วัดความหนาได้ประมาณ 0.02mm คั่นตรงกลางแกน ประมาณแรงกดประกบแกนเข้าด้วยกันแล้ว คิดว่าความหนาน่าจะเหลือประมาณ 0.015 mm  เมื่อใช้สูตรข้างบนเอามาย้อนหาค่า Lp ที่ควรจะเป็นของหม้อแปลงตัวนี้จะได้


ผมลองวัดค่า Lp ของหม้อแปลงที่พันขึ้นด้วยเครื่อง LCR มิเตอร์ วัดได้ค่าประมาณ 111 x 10-6 H  ก็ยังถือว่าไม่ต่างกันมากนักและอยู่ในช่วงที่ออกได้แบบไว้ การทำงานจึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

ต่อไปก็เริ่มประกอบวงจรและทดสอบการทำงานกันได้เลย รูปข้างล่างคือวงจรที่ประกอบขึ้นและนำมาทดลอง ที่เห็นมีตัวอุปกรณ์มาบนบอร์ดมากเกินกว่าในวงจรนั้น เป็นเพราะลายปริ๊นต์บนบอร์ดเขียนเผื่อไว้ให้ใช้ทดสอบได้ตั้งแต่ฟลายแบค ฟอร์เวิร์ด ไปจนถึงพุชพูลคอนเวอร์เตอร์เลย อุปกรณ์บางตัวใส่ค้างไว้แล้วยังไม่ได้เอาออกก็มีครับ






เริ่มทดสอบวงจรเพื่อดูความสามารถที่จะคงค่าแรงดันที่ 5V เมื่อตั้งค่าโหลดให้คงที่ไว้ 300mA ทดสอบที่ช่วงแรงดันขาเข้า 2จุด คือที่ 7V กับ 12V  (อันนี้เป็นการทดสอบ line regulation) เมื่อตั้งแรงดันขาเข้าไว้ที่ 7ผลการปรับช่วงเวลานำกระแสได้ค่า ton ที่ประมาณ 21.96 x 10-6 วินาที (จากที่คำนวณไว้ 27.36  x 10-6 วินาที)

และเมื่อปรับแรงดันขาเข้าไว้ที่ 12ผลการปรับช่วงเวลา ton ของวงจรเพื่อให้ได้แรงดันขาออก 5และกระแสขาออก 300mA  ได้ค่า ton ประมาณ 12.25 x 10-6 วินาที 

สรุปเบื้องต้นได้ว่าวงจรทำงานได้ตามข้อกำหนดที่ต้องการไม่มีปัญหาอะไร


รูปคลื่นของ PWM แสดงความกว้าง pluse ที่ปรับให้ได้ค่าแรงดันขาออก 5V โหลด 300mA ซึ่งจะได้ค่า ton ที่ 21.96 x 10-6 วินาที เมื่อตั้งค่าแรงดันขาเข้าไว้ที่ 7V





แสดงความกว้าง pluse ของ PWM mujปรับให้ได้ค่าแรงดันขาออก 5V โหลด 300mA ซึ่งได้ค่า ton ที่ 12.25 x 10-6 วินาที เมื่อตั้งค่าแรงดันขาเข้าไว้ที่ 12V


ต่อไปวัดค่ากระแสสูงสุดที่ฝั่งไพรมารี่หรือกระแสที่ไหลผ่านขดลวดไพรมารี่ (ซึ่งจะไหลผ่านตัวเพาเวอร์ทรานซิสเตอร์ด้วย) วัดค่ากระแสสูงสุดได้ที่ประมาณ 1.17A  ที่ ton ประมาณ 12.25 x 10-6 วินาที ส่วนกระแสที่ฝั่งเซคั่นดารี่วัดได้ประมาณ 4.76V  จะเห็นว่ามีค่าสูงกว่าฝั่งไพรมารี่มาก ซึ่งเป็นไปตามค่าอัตราส่วนจำนวนรอบ คือ Is =(Np/Ns)Ip



ลักษณะกระแสที่ไหลผ่านขดลวดไพรมารี่ จะเห็นว่าค่ากระแสเริ่มจากศูนย์ในทุกช่วงการนำกระแสของเพาเวอร์ทรานซิสเตอร์ ซึ่งเป็นลักษณะของการทำงานในโหมดกระแสไม่ต่อเนื่อง


ลักษณะกระแสที่ไหลผ่านขดลวดเซคั่นดารี่ จะเห็นว่าค่ากระแสลดลงจนเป็นศูนย์ก่อนหมดคาบเวลา และมีค่าสูงสุดสูงกว่ากระแสที่ไหลผ่านขดลวดไพรมารี่มาก   

เมื่อวัดดูรูปคลื่นแรงดันตกคร่อมเพาเวอร์ทรานซิสเตอร์ขณะทำงาน (แรงดัน VDS ) สามารถวัดแรงดันสไปค์ที่เกิดขึ้นได้สูงถึง 140V และเกิดเรโซแนนซ์เมื่อกระแสที่ขดเซคั่นดารี่ลดลงจนมีค่าเป็นศูนย์ไปแล้ว รวมทั้งค่าแรงดันที่ตกคร่อมจะมีค่าสูงเท่ากับ (Np/Ns)Vs + Vin เมื่อยังมีกระแสที่ขดเซคั่นดารี่ไหลอยู่

แต่ที่น่าสนใจก็คือลักษณะรูปคลื่นของแรงดันที่เกิดขึ้นจริงนั้น ค่อนข้างใกล้เคียงกับผลที่ได้จากการจำลองการทำงานของวงจรใน LTspice IV มากเลยทีเดียว



ลักษณะของแรงดันตกคร่อมที่ตัวเพาเวอร์ทรานซิสเตอร์ขณะหยุดนำกระแส จะเห็นว่ามีสไปค์เกิดขึ้นค่อนข้างสูง ส่วนเรโซแนนซ์ที่เกิดขึ้นจะเห็นว่ามี Damping หน่วงให้เป็นลักษณะลาดชันลงมา




รูปคลื่นที่ได้จากการจำลองการทำงานวงจรฟลายแบคคอนเวอร์เตอร์ใน LTspice IV ซึ่งค่อนข้างใกล้เคียงกับที่เกิดขึ้นเมื่อประกอบวงจรให้ทำงานจริง 

และเมื่อใส่วงจร RCD สนับเบอร์ให้วงจร ก็สามารถลดแรงดันสไปค์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ


แสดงรูปคลื่นแรงดันเมื่อใส่สนับเบอร์เข้ามาในวงจรจะทำให้ค่าสูงสุดของแรงดันสไปค์ที่เกิดขึ้นลดลงได้มาก

อย่าลืมว่าวงจร RCD สนับเบอร์นั้นจะดึงกระแสส่วนหนึ่งไปเพื่อกดแรงดัน และทำให้เกิดกำลังงานสูญเสียในวงจรสนับเบอร์ด้วย ซึ่งตัวต้านทานในสนับเบอร์จะร้อน ต้องระวังเรื่องความร้อนและเลือกใช้ตัวต้านที่มีค่าวัตต์ที่เหมาะสมให้มันด้วย

ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนี้เป็นการทำงานในโหมดกระแสไม่ต้องเนื่อง ฟลายแบคคอนเวอร์เตอร์ยังสามารถทำงานที่โหมดกระแสต่อเนื่องได้ด้วยเช่นกัน แต่การนำมาใช้จริงอาจยุ่งยากไปหน่อย (เรื่องการพันหม้อแปลงและการปิดลูปวงจรควบคุม) เลยไม่ค่อยนิยม แต่ผมจะทดลองเอาไว้ด้วย เพื่อให้ดูลักษณะรูปคลื่นกันครับ

สำหรับโหมดกระแสต่อเนื่องของฟลายแบคให้พิจารณากลับกันกับโหมดกระแสไม่ต่อเนื่อง คือ ให้กำหนดช่่วงเวลานำกระแสที่ต่ำที่สุดจากค่าแรงดันขาเข้าสูงสุด แล้วนำมาคำนวณหาค่า Lp ที่จะยังคงทำงานที่โหมดกระแสต่อเนื่องอยู่ได้

ในที่นี้จะกำหนดช่วงเวลานำกระแสต่ำที่สุดไว้ไม่เกิน 0.2T (ดิวตี้ไซเคิลเท่ากับ 0.2) ดังนั้นจะได้ ton(min) เท่ากับ 0.2x40x10-6 = 8x10-6 วินาที

ต่อไปกำหนดค่ากระแสต่ำสุดที่ฟลายแบคคอนเวอร์เตอร์จะต้องคงการทำงานในโหมดกระแสต่อเนื่อง ในที่นี้จะกำหนดให้เท่ากับ 100mA ที่ค่าแรงดันขาเข้าสูงสุดและช่่วงเวลานำกระแสที่ต่ำที่สุด ซึ่งจำคำนวณหาค่า Lp ของขดลวดไพรมารี่ได้ตามสมการ


 D คือ ค่าดิวตี้ไซเคิล และเพื่อไม่ให้จำนวนรอบมากเกินไป ในที่นี้ผมจะเลือก Np/Ns = 1 ดังนั้น


คำนนวณแล้วได้ Lp ที่ 716.8 x 10-6 H จากนั้นนำไปคำนวณจำนวนรอบขดลวดไพรมารี่ Np ของหม้อแปลงตามวิธีที่ได้กล่าวมาแล้วตอนต้นๆ ต่ออีกที ซึ่งจะได้ Np=Ns=45 รอบ

เมื่อวงจรทำงานจะได้ลักษณะรูปคลื่นดังนี้ครับ



ลักษณะรูปคลื่นของกระแสที่ขดลวดฝั่งไพรมารี่ (บน) และฝั่งเซคั่นดารี่ (ล่าง) ของวงจรทดลองฟลายแบคคอนเวอร์เตอร์เมื่อทำงานในโหมดกระแสต่อเนื่อง (ที่แรงดันขาเข้า 7V)





ลักษณะรูปคลื่นของกระแสที่ขดลวดฝั่งไพรมารี่ (บน) และฝั่งเซคั่นดารี่ (ล่าง) ของวงจรทดลองฟลายแบคคอนเวอร์เตอร์เมื่อทำงานในโหมดกระแสต่อเนื่อง (ที่แรงดันขาเข้า 12V) 



จะเห็นว่าค่ากระแสสูงสุดของฟลายแบคคอนเวอร์เตอร์ที่ทำงานในโหมดกระแสต่อเนื่องจะต่ำกว่าโหมดกระแสไม่ต่อเนื่องมาก แต่ข้อด้อยของการใช้งานในโหมดกระแสต่อเนื่องมีมากกว่าจึงไม่ค่อยนิยมใช้กันครับ

ทั้งหมดนี้ผมคิดว่าน่าจะเพียงพอที่จะศึกษาและทดลองสร้างฟลายแบคคอนเวอร์เตอร์เพื่อให้เกิดความเข้าใจในขั้นต้นได้แล้ว ส่วนการออกแบบฟลายแบคคอนเวอร์เตอร์ให้ทำงานที่แรงดันไฟบ้าน (220VAC) ได้นั้นก็ทำได้ในทำนองเดียวกันครับ แต่ต้องระวังเรื่องความปลอดภัยด้วยเป็นอย่างมาก ในทางปฏิบัติสำหรับมือใหม่ผมไม่แนะนำให้ทดลองเองโดยไม่มีผู้เชี่ยวชาญคอยแนะนำนะคร้บ

18 ความคิดเห็น:

  1. แกนที่ใช้ต้องเป็นแกนเฟอร์ไรท์แบบที่มีช่องว่างอากาศคั่นเท่านั้นหรอคับอาจารย์

    ตอบลบ
  2. ใช้แกนเฟอร์ไรต์ไม่ได้ทำ gap ไว้ให้ก็ได้ครับ (ตัวอย่างนี้ก็ใช้แบบไม่มีgapมาให้) แต่ gap หรือช่องอากาศคั่นจำเป็นต้องมีเพื่อป้องกันการอิ่มตัวของแกน และทำให้กำหนดจำนวนขดลวดง่ายขึ้น การสร้างช่องอากาศทำได้ง่ายๆ ด้วยการเอาฉนวนความหนาครึ่งหนึ่งของช่องที่ต้องการมาคั่นตรงจุดประกบแกนก็ได้ครับ

    ตอบลบ
  3. ขา6 IC TL494 ตรง RT ค่า R500 1k 2k 3k ต้องต่อด้วยใช่ไหม ครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ต่อครับ เลือกเอา RT เป็นค่าใดค่าหนึ่ง เพื่อเลือกความถี่ครับ ส่วน VR 2k เอาไว้ปรับละเอียดอีกที

      ลบ
  4. พอดีผมกำลังทำวงจรนี้อยู่แล้วติดตรงหม้อแปลงฟลายแบคอ่ะครับ เลยอยากถามว่าในการออกแบบหม้อแปลงฟลายแบค ผมจะใช้ขนาด 120w Vin 230v Vout 60v ผมจะคำนวณค่า Lp กับ อัตราส่วนหม้อแปลงจากสูตรไหนได้บางครับ ผมลองพันแล้วเวลาจ่ายแรงดันสูงแล้วหม้อแปลงมีเสียงฮึมๆๆเกิดจากอะไรหรอครับ ขอบคุณครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. หาค่า Lp กับ อัตราส่วนหม้อแปลง ดูได้จากหัวข้อก่อนหน้าครับ (วิเคราะห์การออกแบบสวิตชิ่งเพาเวอร์ซัพพลายด้วยโปรแกรม LTSPICE IV ตอนที่ 3) ส่วนเสียงอาจจะมาจากที่พันขดลวดไม่แน่นพอครับ

      ลบ
  5. แรงดันตกคร่อมสวิตซ์ ผมจะหาจากไหนได้บ้างครับ แล้วหม้อแปลงฟลายแบค ตัว Lp กับ ขด Np มันคือตัวเดียวกันป่าว คือที่ผมเข้าใจ เราต้องพัน ทั้ง Np กับ Ns แล้วก็ Lp ด้วยหรือป่าวครับ หรือว่า Lp ก็คือ Np คือค่า L ที่แฝงอยู่ในขดไพรมารี่ป่าวครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. แรงดันตกคร่อมสวิตซ์ ถ้าหมายถึงค่า Vce(max) ก็ให้กำหนดจากแรงดันสูงสุดที่มันทนได้ของเพาเวอร์มอสเฟตเบอร์ที่เราจะใช้เลยครับ และไม่ต้องพัน Lp ต่างหากครับ Lp ก็คือ Np คือค่า L ที่แฝงอยู่ในขดไพรมารี่ เข้าใจถูกต้องแล้วครับ

      ลบ
  6. Vce(sat) คือาแรงดันตกคร่อมเพาเวอร์ทรานซิสเตอร์ขณะทำงานนี้หาได้จากไหนหรอครับ ส่วน การคำนวณอัตราส่วน ผมลองคำนวณแล้วได้เท่านี้ครับ NP/NS โดยที่ แรงดันขาเข้า =311 แรงดันขาออก=60 ใส่ค่าตามนี้เลยหรือไม่ครับ 500=311+(NP/NS)×(60+1)+(0.3×311) ค่าที่ได้คือ 1.56 มันคืออัตรราส่วนของหม้อแปลงหรอครับ ผมคิดถูกแล้วใช่ไหมครับ ขอบคุณครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. Vce(sat) หาดูจาก data sheet ของเพาเวอร์ทรานซิสเตอร์ที่ใช้ ส่วน Np/Ns นั้นคิดถูกแล้วครับ

      ลบ
  7. ขอบคุณสำหรับทุกคำตอบมากเลยครับ คือตอนนี้ผมใช้ power mosfet irfp460 เบอร์นี้อยู่ในการสวิตซ์ แต่ผมไม่แน่ใจว่า Vce(sat) มันคือเท่าอะครับ ผมดูใน data sheet แล้วไม่แน่ใจว่าค่าไหนอะครับ รบกวนดูให้หน่อยได้ไหมครับ ผมติดตรงนี้ในการออกแบบหม้อแปลงมาหลายวันล่ะครับ ขอบคุณมากครับ อาจารย์

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ผมเข้าใจแล้วครับว่าติดปัญหาตรงไหน เพราะค่า Vce (sat) เป็นของไบโพลาร์เดี๋ยวนี้อาจตกยุคไปแล้ว

      คือ ถ้าเป็นเพาเวอร์มอสเฟตเมื่อดูใน datasheet ปกติจะบอกเป็นค่าความต้านทานขณะนำกระแส Rds (on) ให้เอาค่านี้มาหา Vce (sat) ครับ โดย คำนวนจาก Rds (on) x Ipeak ดังนั้น irfp460 ที่มี Rds (on) ประมาณ 0.27 โอมห์ ถ้าคิด Ipeak ที่ 13A ก็จะได้ Vce (sat) ประมาณ 3.5V ครับ ถ้าต้องการ Vce (sat) ต่ำๆ ที่กระแสสูงๆ แบบนี้ ต้องเลือกเพาเวอร์มอสเฟตเบอร์ที่มีค่า Rds (on) ต่ำๆ แทนครับ

      ลบ
  8. หลังจากที่ผมได้ไปลองเทสดูแล้ว พบว่า มอสเฟส ร้อนไวมากเลยครับ มีวิธีแก้ไขไหมครับ พอดีผมใช้ ไอซี TL494 สร้าง PWM แล้วก็ opto TLP250 เป็นตัวขับสัญญาณ gate แล้วผมได้ลองเทสดู ปรากฎว่า มอสเฟส ที่ผมใช้ในการสวิตซ์ ร้อนไวมากเลยครับ ผมจะแก้ไขยังไงดีครับ เพราะมอสเฟตผมที่เทสไปพังไปหลายตัวมากเลยครับ ขอบคุณครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. มอสเฟตร้อนไวมากไม่ค่อยเกี่ยวกับการขับเกตสักเท่าไหร่ ปัญหาน่าจะอยู่ที่กระแสเกินมากกว่า ถ้ามี current probe ให้วัดดูรูปคลื่นกระแสที่ได้ ถ้าเป็นพีคงอนๆ สูงมาก ให้เช็คการคำนวนรอบการพันหม้อแปลง หรือไม่ก็ลองค่อยๆ เพิ่ม gap ที่แกนเฟอร์ไรต์ดู (ุถ้าไม่มี gap แกนจะอิ่มตัวง่าย ถ้าแกนอิ่มตัวจะเหมือนกับลัดวงจรที่ขดไพรมารี่ครับ)

      ลบ
  9. ในไอซี tl494 ขา 3 ถ้าเราไม่ต่อได้ไหมครับ เพราะผมทำโปรเจคเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ในไอซีตัวเดียวกัน ผมจะมีการควบคุมแรงดันให้คงทีด้วย ผมต่อ R ปรับค่าได้ในขานี้ไหมครับ แล้วตอนผมเทส ผมเกิดปัญหาตรงที่ มอสเฟตซ็อต คือมันลัดวงจรอ่ะครับ ปัญหานี้จะมาจากอะไรได้บ้างครับผมจะแก้ปัญหายังไงดีครับ วงจรในส่วนหน้า จะ input AC 220V 50Hz ผ่านบริจเร็กติไฟล์มาเป็นแรงดัน DC เข้าวงจร DC-DC คือวงจรฟลายแบค แล้ว C แบบมีขั้วกับ C ไม่มีขั้ว นี้แตกต่างกันมากไหมครับ ที่ผมติดคือมอตเฟสซ็อตกับบริจพัง ยันโต๊ะที่ผมใช้จ่ายแรงดันคือฟิวส์ ขาดเลยครับ ฟิวส์ที่โต๊ะผมใส่ 2 A ไว้ ผมจะแก้ไขยังไงได้มั้งครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขา 3 ต้องต่อแรงดันเพื่อควบคุม pluse width ครับให้มีแรงดันระหว่าง 0.5-3.5V ก็จะได้ duty ที่ 97%-0% ครับ เพื่อทดสอบดูค่าเบื้องต้นจ่ายแรงดันคงที่สัก 2V ที่ขา 3 เพื่อดูความกว้าง pluse (ก็จะคงที่ตามแรงดันด้วย) ก็ได้ครับ

      มอสเฟตซ็อตปัญหาอาจจะเกิดจากการพันหม้อแปลงไม่เหมาะสมก็ได้ ถ้ามีข้อมูลแค่นี้คงแนะนำไม่ได้มาก

      อย่างแรกต้องขอดูรูปคลื่นทั้งกระแสและแรงดันตกคร่อมขณะทำงานของมอสเฟตจะเห็นปัญหาได้ง่ายขึ้นครับ

      ที่แรงดัน Vin สูงๆ ถ้าไม่ต่อวงจรสนับเบอร์ให้มอสเฟตไว้ ก็พังง่ายเช่นกันครับ

      ลบ
  10. สวัดดีครับ ตอนนี้ผมทำวงจรแปลง12-15vdcเป็น390vac ได้แล้ว แต่ผมจะเพิ่ม 390vacเป็น 22000vac เพื่อทำ พลาสมา ได้อย่างไร รบกวนตอบทีครับ

    ตอบลบ
  11. วัดดีครับ ตอนนี้ผมทำวงจรแปลง12-15vdcเป็น390vac ได้แล้ว แต่ผมจะเพิ่ม 390vacเป็น 22000vac เพื่อทำ พลาสมา ได้อย่างไร รบกวนตอบทีครับ

    ตอบลบ